‘นักวิชาการ’ชี้หลักสูตรสมรรถนะเหลวแน่! ถ้า ศธ.ปล่อยครูยึด'ตำรา' คู่มือสอน

 

นักวิชาการชี้หลักสูตรฐานสมรรถนะเหลวแน่

ถ้า ศธ.ปล่อย 'ครู' ยึดตำราเป็นคู่มือสอน

สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานความคืบหน้ากรณีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศเรื่อง ศธ.ได้จัดทำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ และจะนำร่องทดลองใช้ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประมาณวันที่ 1 กันยายน 2564 ก่อนประกาศใช้จริงตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เริ่มใช้ในระดับประถมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม, ปีการศึกษา 2566 ใช้ระดับมัธยมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม และใช้สำหรับระดับประถมศึกษาในทุกโรงเรียน และในปีการศึกษา 2567 จะใช้ในทุกโรงเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากนักวิชาการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา เนื่องจากเห็นว่าร่างหลักสูตรดังกล่าวนี้ยังขาดความสมบูรณ์ ชัดเจน และขาดการรับฟังจากครูและบุคลากรการศึกษา ซึ่งเป็นผู้รับไปปฏิบัติ และที่สำคัญจะเป็นการเพิ่มภาระและความเสี่ยงติดโควิด-19 ให้กับครู บุคลากรการศึกษา นักเรียน และผู้ปกครอง ใน 286 สถานศึกษานำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 6 จังหวัด/ภูมิภาค ได้แก่ กลุ่มสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา จ.ระยอง กาญจนบุรี ศรีสะเกษ เชียงใหม่ และสตูล

ล่าสุดนายประทุม เรืองฤทธิ์ ประธานสมาพันธ์ครูภาคใต้ แสดงความเป็นห่วงภาพลักษณ์ของทั้ง น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และคณะกรรมการจัดทำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะของ ศธ. เนื่องจากมีสำนักพิมพ์ผลิตและจำหน่ายหนังสือเรียนบางแห่งเริ่มจัดอบรมครูเกี่ยวกับหลักสูตรฐานสมรรถนะ

ขณะที่ ศธ.เองก็กำลังจัดทำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ และประกาศจะเริ่มนำร่องทดลองใช้ และใช้จริงในปีการศึกษา 2565 ที่จะถึง จึงเกรงว่า น.ส.ตรีนุช และกรรมการจัดทำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ อาจต้องพลอยถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถามเชิงกล่าวหาได้ว่า มีการเอื้อประโยชน์อะไรกันหรือไม่? อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้น

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา อดีตอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวสำทับว่า ทุกครั้งที่เกิดวงจรการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มักจะมีสำนักพิมพ์เอกชนบางแห่งหาจังหวะและโอกาสเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างรวดเร็ว เร็วยิ่งกว่าพวกหิวแสง โดยเข้ามาตามช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะเข้าทางนักการเมือง ซึ่งอาจจะมีผลประโยชน์อะไรตอบแทนให้หรือไม่? นั้น ตนไม่ทราบ

แต่ทั้งนี้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานแต่ละครั้ง จะสร้างประโยชน์มหาศาลให้กับวงการสำนักพิมพ์ผลิตและจำหน่ายหนังสือเรียน เช่น แค่ได้เข้ามาช่วยจัดอบรมครูเตรียมเข้าสู่หลักสูตรที่เปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงใหม่ ก็ทำให้มีแนวโน้มความได้เปรียบในโอกาสที่จะสามารถขายสื่อ หนังสือเรียน แบบฝึกหัดของสำนักพิมพ์แห่งนั้นๆ เนื่องจากในการจัดอบรมครู ย่อมจะใช้สื่อ ใบงาน แบบฝึกหัด กิจกรรม ฯลฯ ที่สอดรับกับสื่อ หนังสือเรียน และแบบฝึกหัดของสำนักพิมพ์แห่งนั้น

อย่างไรก็ตาม หาก น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และหรือคณะกรรมการจัดทำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ เห็นความจำเป็นว่าอาจจะต้องใช้กลไกลเอกชน คือสำนักพิมพ์ เข้ามาช่วยในการจัดอบรมครู เพื่อช่วยกันสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อมครูในการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในเวลาอันรวดเร็วขึ้น เนื่องจากมีครูจำนวนหลายแสนคนทั่วประเทศ ลำพังกำลังหน่วยงานอบรมใน ศธ.อาจไม่เพียงพอ ตนก็ขอเสนอให้เปิดกว้างทุกสำนักพิมพ์ได้เข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่จำกัดวงแคบๆ แค่ 2-3 บริษัทเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ กล่าวฝากเตือนไปถึง น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และคณะกรรมการจัดทำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่มีนางสิริกร มณีรินทร์ นายกสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการ ด้วยว่า ขอให้เน้นย้ำกับครูว่า การสร้างสมรรถนะแต่ละด้านให้เกิดขึ้นกับตัวนักเรียนได้นั้น จะต้องใช้วิธีการสอนแบบเน้นให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริงเท่านั้น หรือ active learning ซึ่งมีสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไอที ดิจิทัลสมัยใหม่เกิดขึ้นมากมาย ที่สามารถจะนำมาให้เด็กได้ใช้ประกอบในการลงมือปฏิบัติจริง

“ในขณะที่การเรียนการสอนโดยปล่อยครูยึดหนังสือเรียนเป็นครูมือสอนเหมือนเช่นที่ผ่านๆ มา จะไม่สามารถสร้างสมรรถนะด้านใดๆ ให้กับนักเรียนได้ ซึ่ง น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และคณะกรรมการจัดทำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ จะต้องรู้เท่านั้นและเน้นย้ำกับครูเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ ศธ.จะนำมาใช้ใหม่ในครั้งนี้ จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างแน่นอน” ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)