กก.ปฏิรูป ปท.จ่อถก‘วรากรณ์’เชียร์ ศธ.ผุดหลักสูตรสมรรถนะ สวนทางแผนปฏิรูปศึกษา

 

งง! 'วรากรณ์'เป็น ปธ.จัดทำแผนประเทศด้านการศึกษา

มุ่งปฏิรูปห้องเรียน-ปรับครูสอนแบบ Active Learning

แต่กลับไปนั่งเชียร์ ศธ.สร้างหลักสูตรใหม่ระดับชาติ

"กก.ปฏิรูป ปท."ข้องใจเตรียมเคลียร์บทบาท"ประธาน"

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานความคืบหน้าจากกรณีที่ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้กล่าวสนับสนุนให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เดินหน้าจัดทำและทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ในงานเปิดตัว “โครงการนำร่องการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ที่กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม 2564

จัดโดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับคณะอนุกรรมการสื่อสารและการมีส่วนร่วม ในคณะอนุกรรมการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรฐานสมรรถนะ)

โดย รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า การพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะนี้มีความสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ (Big ROCK) ด้านการศึกษา ในเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ การยกระดับคุณภาพผู้เรียน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตนรู้สึกดีใจมากที่เรามาถึงวันนี้ เพราะหากเราไม่แก้ไขปัญหาด้านการศึกษาของประเทศ ปัญหาอื่นที่ยากลำบากก็จะตามมา ถ้าเราสามารถทำให้คนของเรามีคุณภาพมากขึ้นผ่านหลักสูตรการศึกษานี้ ก็จะทำให้ประเทศของเราพัฒนาอย่างก้าวกระโดด สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

“วันนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อเตรียมพร้อมนำไปใช้จริงในโรงเรียนทั่วประเทศต่อไป” รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาท่านหนึ่ง ได้สะท้อนความเห็นผ่าน สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ว่า รู้สึกแปลกใจอย่างมากกับคำกล่าวของ รศ.ดร.วรากรณ์ดังกล่าว เพราะนอกจาก รศ.ดร.วรากรณ์จะเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาแล้ว ยังเป็นประธานจัดทำแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาด้วย

“แล้วจะเป็นไปได้อย่างไรที่ ดร.วรากรณ์จะไปทำในสิ่งที่สวนทางกับแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาของรัฐบาลที่ทำมาด้วยตัวเอง ในฐานะเป็นกรรมการรูปประเทศด้านการศึกษาคนหนึ่ง รู้สึกงงมาก และเดินหน้าไปไม่ถูกแล้ว ทั้งนี้ เชื่อว่าจะมีกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาหยิบยกกรณีนี้มาสอบถาม ดร.วรากรณ์ และพูดคุยกันเพื่อหาความชัดเจนในที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาในเร็วๆ นี้”

กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาคนเดิม ได้สะท้อนความเห็นด้วยว่า ในแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งมีผลบังคับใช้เป็นกิจกรรมของหน่วยงานรัฐบาล ในการปฏิรูปประเทศที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) โดยเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ที่ผ่านมานั้น

ได้ดำเนินการไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 จ.ด้านการศึกษา (4) “ให้ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัด และปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่”

ทั้งนี้ ในราชกิจจานุเบกษา (๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔) ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) โดยในหน้า ๓๐๕-๓๐๘ มีเนื้อความเกี่ยวกับกิจกรรมการปฏิรูปที่ ๒ การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ โดยไม่ได้มีการกล่าวถึงการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ แต่อย่างใด

แต่กำหนดไว้ชัดเจนทั้งเรื่องเป้าหมายและตัวชี้วัดของกิจกรรมการปฏิรูป และขั้นตอนและวิธีการดำเนินการปฏิรูป โดยให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ในการปฏิรูปการเรียนรู้ระดับห้องเรียนด้วยการปรับวิธีสอนจาก Passive Learning ที่เน้นป้อนข้อมูลโดยการท่องจำเนื้อหา มาเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อให้ผู้เรียนสร้างความรู้ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ

ตลอดจนพัฒนาครูให้มีศักยภาพในการออกแบบการเรียนรู้, ปรับปรุงระบบการวัดผลและประเมินผล, ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและการเรียนรู้กับภาคีเครือข่ายต่างๆ

และให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ประชุมหน่วยงานผู้รับผิดชอบติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการ และร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการประเมินผลการดำเนินงานและขยายผลต่อไป 

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดห้วงระยะเวลาให้ ศธ.ดำเนินการในแต่ละขั้นตอนไว้อย่างชัดเจน โดยมีระยะเวลาดำเนินการรวม ๑ ปี ๙ เดือน (ตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๖๔–กันยายน ๒๕๖๕) ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้  

 

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)