ศธ.นำทีม สธ.-มท.การันตี On-Site เผย"ภูเก็ต-ระยอง"เปิด ร.ร.ไม่ถึงร้อยละ 30

"รองอธิบดีกรมอนามัย" กล่าวบนเวทีเสวนา “ร่วมใจ ศธ.-สธ.-มท.มั่นใจเปิดเรียน On-Site" สถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 ในสถานศึกษา ส่วนมากเกิดจากการร่วมกลุ่มของเด็ก แม้ ร.ร.มีมาตรการป้องกันเคร่งครัด-ฉีดวัคซีนครบ ด้าน "นายก-ที่ปรึกษา"สมาคมโรคติดเชื้อฯ พูดตรงประเด็น! เหตุเน้นเปิดโรงเรียน-ไม่ Online เพราะมีข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยี เตือนให้เลือกรูปแบบเปิดเรียนตามสภาพการระบาดในแต่ละพื้นที่ 

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในการเปิดเวทีเสวนา “ร่วมใจ 3 กระทรวง มั่นใจเปิดเรียน On-Site พร้อมใช้แผนเผชิญเหตุ ทุกสถานการณ์” ที่ ศธ. เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 

โดยมีผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมเสวนา ได้แก่ นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ., นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.), นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัด มท., นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค, นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย, รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และ ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม ที่ปรึกษาสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย

นางสาวตรีนุชกล่าวว่า ศธ.สนับสนุนการเปิดเรียน On-Site มาโดยตลอด ถึงแม้ว่าตลอดระยะเวลา 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยรวมทั้งทั่วโลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งทุกคนมีความกังวล เพราะต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต ทั้งการทำงานหรือเรียนผ่านระบบออนไลน์ การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล การงดไปในสถานที่เสี่ยงต่างๆ แต่วันนี้ทุกคนเริ่มเข้าใจเรียนรู้ และปรับตัวว่าต้องใช้ชีวิตอย่างไรกับโรคโควิด-19

ดังนั้น ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการศึกษา จึงมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันทุกมิติ และมีความเป็นห่วงนักเรียน นักศึกษา โดยพยายามหาแนวทาง มาตรการและการดำเนินการเพื่อให้นักเรียนไม่ขาดกระบวนการเรียนรู้ ทั้งการอนุมัติให้มีการฉีดวัคซีนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน โดยเฉพาะอายุ 12-17 ปี 11 เดือน 29 วัน และเด็กอายุ 5-11 ปี 11 เดือน 29 วัน เพื่อให้สถานศึกษาเป็นสถานที่ปลอดภัยที่สุดแก่เด็กนักเรียน

รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า ขณะนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 99% และเข็ม 2 กว่า 80% เช่นเดียวกับนักเรียนในกลุ่มอายุ 12-17 ปี 11 เดือน 29 วัน ได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกและเข็ม 2 ไปแล้วกว่า 80% และแม้จะยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธ์ุโอมิครอน แต่การเรียนรู้ของเด็กต้องไม่หยุดนิ่ง ขอให้ทุกคนตระหนักถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่อย่าตระหนก โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็น 6 มาตรการหลัก (DMHC-RC) 6 มาตรการเสริม (SSE-CQ) 7 มาตรการเข้มงวด และการจัดทำแผนเผชิญเหตุ 

“อย่างไรก็ตาม โรงเรียนจะเปิดเรียนออนไซต์ได้ ต้องผ่านมาตรการและการควบคุมของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ขอให้ผู้ปกครองตลอดจนประชาชนได้มีความเชื่อมั่นในความปลอดภัย เพราะทุกโรงเรียนได้ดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด” รมว.ตรีนุช กล่าว

นายสุภัทร ปลัด ศธ. กล่าวว่า การเปิดโรงเรียนเป็นจุดสำคัญของการเรียนรู้ ทั้งด้านองค์ความรู้ การพัฒนาทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งมีโรงเรียนทยอยเปิดเรียน On-Site จำนวนมาก ศธ.ได้สำรวจข้อมูลการเปิดเรียน On-Site ใน 77 จังหวัด โดยมีการส่งข้อมูลมาแล้ว 40 จังหวัด พบว่าเปิดเรียน On-Site รวมแล้ว 79.32% ในจำนวนดังกล่าวมี 2 จังหวัดที่มีการเปิดโรงเรียนน้อยกว่า 30% คือจังหวัดภูเก็ต 21.66% และจังหวัดระยอง 29.27% ส่วนที่เหลืออีก 37 จังหวัด ขณะนี้ยังไม่ส่งข้อมูลเข้ามา แต่คาดว่ามีจำนวนใกล้เคียงกัน

"สำหรับการสำรวจจำนวนเด็กอายุ 5-11 ปี 11 เดือน 29 วัน ที่ประสงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากจำนวนนักเรียนทั้งในและนอกสังกัด ศธ.ทั่วประเทศรวม 5,381,431 คน ล่าสุดมีจังหวัดส่งข้อมูลมาแล้ว 61 จังหวัด ทำการสำรวจเด็ก 4,185,000 คน คิดเป็น 78% ประสงค์ฉีดวัคซีน 2,570,000 คน คิดเป็น 61% แต่ผมเชื่อว่าผู้ปกครองจะแสดงความประสงค์ให้นักเรียนฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น"

นายอัมพร เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีการจัดรูปแบบการเรียนการสอน 5 รูปแบบ ได้แก่ On-Site, On-Air, Online, On-Demand, และ On-Hand ซึ่งใน ศธ.ทุกคนเห็นตรงกันว่า รูปแบบที่ดีที่สุดคือแบบ On-Site

จากนโยบาย รมว.ศธ.ที่ได้พยายามผลักดันให้เปิดโรงเรียนภาคเรียนที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา มีโรงเรียนจำนวนมากที่สามารถเปิดเรียนแบบ On-Site ได้แล้ว แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ ทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวล ดังนั้น แนวทางในการเปิดโรงเรียน สพฐ.จำแนกเป็น 2 กลุ่ม 1.กลุ่มที่ยังไม่เคยเปิดเรียน On-Site มาเลยตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 และกลุ่มที่เปิด On-Site อยู่แล้วก่อนปีใหม่ และมาปิด On-Site หลังปีใหม่นี้

โดยโรงเรียนที่ยังไม่เคยเปิดเรียน On-Site แต่ทำการประเมินโรงเรียน 44 ข้อผ่านแล้ว ให้ส่งเรื่องมายังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เพื่อนำเรื่องเข้าสู่ ศบค.จังหวัดให้ทำการอนุมัติ ถ้าเห็นชอบก็สามารถเปิดโรงเรียนได้ แต่หากไม่ผ่าน ก็ต้องประเมินตัวเองให้ผ่านเสียก่อน

"เพราะถึงแม้เราจะต้องการให้นักเรียนมาเรียนแบบ On-Site แต่ความปลอดภัยคือสิ่งสำคัญที่สุด"

นพ.โอภาส อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถเปิดโรงเรียนได้ คือความกังวลของผู้ปกครองและผู้บริหารจังหวัด ในการเปิดเรียน On-Site แล้วจะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จึงขอชี้แจงว่าประเทศไทยผ่านสถานการ์แพร่ระบาดใหญ่มาแล้ว การฉีดวัคซีน การรักษา รวมถึงการปรับตัวดีขึ้นมาก เพราะขณะนี้โควิด-19 กำลังใกล้จะเข้าสู่โรคประจำถิ่น ที่คนสามารถอยู่ร่วมกันได้ มีอาการติดเชื้อไม่รุนแรง

เรื่องการฉีดวัคซีนให้กับเด็กนั้น ในความเข้าใจส่วนตัว ผู้ปกครองคงกังวลว่าเด็กจะเป็นหนูทดลอง ตนขอยืนยันในความปลอดภัย โดยวัคซีนที่ทั่วโลกอนุมัติให้ใช้กับเด็กคือ ไฟเซอร์ เป็นวัคซีนในกุล่ม mRNA โดยวัคซีนที่จะนำมาฉีดให้เด็กจะคำนึงถึงประสิทธิภาพ และความปลอดภัย

"วัคซีนไฟเซอร์ฝาสีส้มสั่งซื้อไป 10 ล้านโดส ผู้ผลิตแจ้งจะส่งมอบให้ประเทศไทยสัปดาห์ละ 3 แสนโดส สธ.จัดสรรวัคซีนเพื่อให้บริการฉีดวัคซีนผ่านสถานศึกษากับนักเรียนชั้น ป.6 ที่อายุต่ำกว่า 12 ปีก่อน จากนั้นฉีดให้ชั้นรองลงมาจนถึงชั้น ป.1" 

นพ.โอภาสกล่าวด้วยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อยู่ระหว่างการพิจารณาขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนแวค ซึ่งคงเหลืออยู่ 4 ล้านโดส สำหรับฉีดในเด็กอายุ 3-17 ปี เพื่อเป็นทางเลือกในการเข้ารับวัคซีนต่อไปด้วย

นพ.สราวุฒิ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การติดเชื้อโควิด-19 ในสถานศึกษา ส่วนมากเกิดจากการร่วมกลุ่มของเด็ก แม้โรงเรียนจะดำเนินการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด และมีการฉีดวัคซีนครบแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนประจำที่มีการร่วมกลุ่มพบว่า มีการติดเชื้อค่อนข้างมาก แต่มีข้อดีคือไม่ได้มีการนำไปแพร่เชื้อภายนอก เพราะมีการกักตัวในพื้นที่เดียวกัน สำหรับทางแก้ ขอเน้นย้ำให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่มีการจัดกิจกรรมร่วมกลุ่ม และจัดกิจกรรมที่เป็นการร่วมกลุ่มขนาดเล็ก

ด้าน นพ.ทวี นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กฯ และ ผศ.นพ.กำธร ที่ปรึกษาสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวถึงมุมมองและเหตุผลทำไมควรเปิดเรียน On-Site ว่า ในเวทีเสวนานี้เห็นตัวอย่างชัดเจนว่า ทำไมต้องเปิดเรียน On-Site เพราะมีข้อจำกัดของเทคโนโลยี นอกจากนี้ การเรียน Online จะทำให้ไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับครู หรือเด็กกับเด็ก

"แต่การจะเปิดโรงเรียน On-Site อย่างปลอดภัย ทั้งโรงเรียนและผู้ปกครองต้องมีการคัดกรองร่วมกัน ซึ่งต้องคัดกรองจากอาการไม่ใช่คัดกรองจากไข้ ด้วยสถานการณ์ขณะนี้เราสามารถมีความพร้อมให้สามารถเปิดเรียนได้ ถ้ามีการเตรียมการที่ดี

ส่วนพื้นที่ที่โรงเรียนไม่สามารถเปิดเรียน On-Site ได้ ควรจะมีมาตรการที่เหมาะสม ตลอดจนสำรวจปัญหาว่า แต่ละโรงเรียนเป็นอย่างไร รวมถึงเรื่องระยะห่าง ที่หลายๆ โรงเรียนอาจต้องมีการปรับให้เหมาะสม หรือในสถานการณ์ที่ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ อาจจะต้องให้นักเรียนทุกคนใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หรือถอดหน้ากากเฉพาะช่วงของการรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นไปได้หรือไม่ ที่อาจจัดช่วงเหลื่อมเวลาในการรับประทานอาหาร"

นายนิรัตน์ รองปลัด มท. กล่าวปิดท้ายว่า กระทรวงมหาดไทยพร้อมให้การสนับสนุนการทำงานและมาตารการของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณะสุขอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ขอความร่วมมือให้ทั้งสองหน่วยงานแจ้งระเบียบปฏิบัติไปยังสถานศึกษาในแต่ละพื้นที่ได้โดยตรง และมาร่วมหาแนวทางรับมือการเปิดเรียน On-Site เพิ่มเติมร่วมกันในการประชุม ศบค.แต่ละจังหวัด

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)