"ครู"คิดอย่างไร? เมื่อวงประชุม กพฐ.ส่อ“ลักไก่?”ชงประกาศหลักสูตรสมรรถนะปีนี้

ครูฯคิดเห็นอย่างไร?

เมื่อวงประชุม กพฐ.ส่อ “ลักไก่”?

ชงประกาศหลักสูตรสมรรถนะเดือน ต.ค.ปีนี้

สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com นำเสนอความคิดความเห็นของกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษาในโลกโซเชียลแวดวงการศึกษา ซึ่งได้ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีปรากฏข่าวรายละเอียดในบันทึกการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 มีศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน

ซึ่งได้สะท้อนถึงบรรยากาศการพิจารณา (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช… ระดับประถมศึกษา และ (ร่าง) คู่มือการใช้กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช …ระดับประถมศึกษา โดยมีการเสนอให้บอร์ด กพฐ.ได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะทำงานบรรณาธิการกิจ เพื่อตรวจทานปรับปรุงร่างกรอบหลักสูตรฯและร่างคู่มือดังกล่าว

ส่ออาจทำให้คิดได้ว่า (ร่าง) กรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะยังไม่แล้วเสร็จ จึงยังไม่มีร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะไปทดลองใช้ในสถานศึกษาใดเลย ใช่หรือไม่?

แต่แล้วเหตุใดในที่ประชุม กพฐ.เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 กลับบันทึกการประชุมระบุถึงการเสนอให้ร่นเวลาการประกาศใช้หลักสูตรฐานแกนกลางฐานสมรรถนะเร็วขึ้น จากเดือนตุลาคม 2566 ขยับมาเป็นเดือนตุลาคม 2565 ปีนี้ เพียงเพื่อการันตีให้ความเชื่อมั่นแก่ผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ ตำราเรียน สื่อดิจิทัล ได้มีเวลาเตรียมการผลิตได้ทันโรงเรียนทั่วไปใช้หลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะจริงตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 โดยแทบไม่ได้มีการระบุในบันทึกการประชุมครั้งนี้ให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับสภาพความพร้อมของครูและนักเรียนที่ต้องรับผลกระทบโดยตรง

หนำซ้ำในบันทึกการประชุมวันดังกล่าวยังระบุว่า ประธาน (ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธาน กพฐ.) ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า “...และเราเองก็เห็นชอบอยากเห็นว่าการประกาศใช้หลักสูตรนี้ในเดือนตุลาคม 2565 ส่วนชื่อหลักสูตรก็ใช้หลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะนี้ไปก่อนในการสื่อข่าว ส่วนทีมงานที่จะทำหลักสูตรมัธยมศึกษาต่อไป ก็ตระหนักรู้แล้วว่าไม่ต้องรอต่อไป สามารถดำเนินการสำหรับหลักสูตรมัธยมต่อไป”

ซึ่งมองเห็นแตกต่างจากเมื่อราว 1 เดือนก่อนหน้าปิดภาคเรียนใหญ่ปีการศึกษา 2564 หรือประมาณ 2 เดือนกว่าก่อนหน้านี้ ที่คณะกรรมการ กพฐ.ชุดนี้ยังไม่มีทีท่าความชัดเจนในเรื่องกำหนดเวลาของการวางแผนใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ

โดยในคราวประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 มีศาสตราจารย์บัณฑิต นั่งเป็นประธาน ได้เปิดเผยภายหลังการประชุมครั้งนั้นว่า “ตอนนี้ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ยังอยู่ในขั้นทดลองใช้ในโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งในที่ประชุมได้มีข้อสังเกตและมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปพิจารณาทำแผนขึ้นมาว่า โรงเรียนที่มีความพร้อมแต่อยู่นอกเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หากมีความพร้อม ก็เห็นควรที่จะเปิดโอกาสให้สามารถนำ (ร่าง) กรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะไปทดลองใช้ได้ จากนั้นให้เสนอมายังที่ประชุม กพฐ.เพื่อทำการพิจารณา

“ในส่วนของหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่แม้เราจะเห็นพ้องต้องกันว่า การเน้นสมรรถนะเป็นเรื่องที่เหมาะสม เข้ากับยุคสมัย แต่ในขณะนี้ยังเป็นเพียงแค่ (ร่าง) หลักสูตรฯที่ยังอยู่ในขั้นการทดลองนำไปใช้ในโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จึงยืนยันว่าการจะนำหลักสูตรใดมาใช้ทั้งหมดแบบทันทีทันใด ก็อาจจะยังไม่มีความพร้อม" ศาสตราจารย์บัณฑิต ประธานบอร์ด กพฐ. กล่าวย้ำหลังการประชุมเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565

กระทั่งเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มคนแวดวงการศึกษาตั้งข้อเคลือบแคลงสงสัยในทำนองว่า จากบันทึกการประชุม กพฐ.เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 ส่อสะท้อนให้คิดกันได้ใช่หรือไม่? ว่า ที่ประชุม กพฐ.อาจส่อ “ลักไก่” เร่งรีบในการประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะ โดยขอร่นเวลาการประกาศใช้หลักสูตรฯจากเดือนตุลาคม 2566 เป็นเดือนตุลาคม 2565 และให้ทดลองใช้ร่างหลักสูตรสมรรถนะในโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปีการศึกษา 2565 จากนั้นปีการศึกษา 2566 ทดลองใช้ในโรงเรียนทั่วไปที่พร้อมใช้ และปีการศึกษา 2567 โรงเรียนทั่วประเทศใช้หลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะในชั้น ป.1 และ ป.4

จนนำมาสู่การทักท้วงของ 2 แกนนำองค์กรครู นายบุญสม ทองศรีพราย ประธานสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และนายธนชน มุทาพร ที่ปรึกษาชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย และแกนนำเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) ที่แสดงความรู้สึกมึนงงที่ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศเดียวในโลกที่เปลี่ยนหลักสูตรการจัดการศึกษาท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ระบาด

พร้อมทั้งเรียกร้องให้ผู้บริหารระดับสูงใน สพฐ.ได้ชะลอการทดลองใช้ร่างหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะในสถานศึกษาต่างๆ ออกไปก่อนอย่างน้อย 1 ปีการศึกษา เพราะส่อล้มเหลวสูง เสี่ยงงบประมาณแผ่นดินจะสูญเปล่า เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังคงระบาดต่อเนื่อง มีประชาชนไทยติดเชื้อวันละหลักหมื่นคน สุ่มเสี่ยงทำให้โรงเรียนทดลองใช้หลักสูตรไม่ต่อเนื่อง ต้องเปิดๆ ปิดๆ และเรียกร้องให้หันมาให้ความสำคัญกับการเติมเต็มความรู้นักเรียนที่ขาดหายในช่วงเรียนออนไลน์หลายภาคการศึกษาที่ผ่านมา

สานิตย์ พลศรี

ที่สำคัญยังมีการยืนกรานจากนายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ที่กำลังเดินหน้าเตรียมการเป็นตัวแทนเครือข่ายผู้มีส่วนได้เสียในสถานศึกษาต่างๆ จะไปแจ้งความอาญา มาตรา 157 เอาผิดกับบอร์ด กพฐ. และผู้บริหารใน สพฐ.ที่เกี่ยวข้อง โดยกล่าวหาว่าส่อร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ดำเนินการเกี่ยวกับหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะขัดกับกฎหมายหลายฉบับ และจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง จ.นครราชสีมา ให้สั่งยกเลิกมติ กพฐ.เกี่ยวกับร่างหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะ เพราะส่อเร่งรีบดำเนินการ จนมีแนวโน้มอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพการเรียนการสอนของครูและนักเรียนทำให้ด้อยลงได้

ถึงแม้ว่าจะมีการชี้แจงจาก ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ กพฐ.แล้วก็ตาม ว่า ในการประชุมคณะกรรมการ กพฐ. ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 ซึ่งมีศาสตราจารย์บัณฑิต อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน ยังไม่ได้มีมติเห็นชอบการใช้หลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะ แทนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ปรับปรุง พ.ศ.2560 แต่อย่างใด เพราะยังต้องผ่านขั้นตอนเตรียมความพร้อมอีกหลายขั้นตอน รวมถึงต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหลักสูตรอีกหลายชุดก่อน ถึงจะประกาศใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะอย่างเป็นทางการได้

อย่างไรก็ตาม มารับฟังเสี้ยวตัวอย่างการแสดงความรู้สึก ความคิด ความเห็นและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษาในโลกโซเชียลแวดวงการศึกษาว่า พวกเขาคิดและรู้สึกเกี่ยวกับหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะกันอย่างไรบ้าง?

โดยเฉพาะหลังปรากฏกระแสข่าววิพากษ์วิจารณ์กล่าวหาว่า ในวงประชุม กพฐ.ส่ออาจ “ลักไก่?” ชงประกาศใช้หลักสูตรฐานแกนกลางฐานสมรรถนะในเดือนตุลาคม 2565 ปีนี้ ทั้งๆ ที่ (ร่าง) กรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะยังไม่แล้วเสร็จ และส่อว่าอาจจะยังไม่มีร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะไปทดลองใช้ในสถานศึกษาใดเลยที่ปรากฏผลเป็นประจักษ์?

เริ่มจาก

Mr-porasi… “ควรให้อิสระแก่สถานศึกษากำหนดหลักสูตรตามบริบทตนเอง เช่น บางแห่งสอนเพื่อให้เด็กเข้ามหาวิทยาลัย บางแห่งสอนเพื่อให้เด็กนำไปประกอบอาชีพตามศักยภาพแต่ละคน ซึ่งต้องหลากหลาย หรือบางแห่งเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย หรือบางแห่งเปิดสอนสำหรับเด็กพิเศษเพื่ออยู่ในสังคมได้ ฯลฯ แต่ที่สำคัญระเบียบ วัดผล ประเมินผลต้องเปลี่ยนเพื่อพัฒนาคุณภาพ ต้องให้เด็กมุ่งมั่น ขยันเรียนมากขึ้น ไม่ใช่เรียนอย่างไรก็ได้เลื่อนชั้น เรียนเหมือนมาทำพิธีกรรม 3 ปี ก็ได้ใบจบ นี้เรียกว่าความสูญเปล่าทางการศึกษา ครับ”

Instructor Athiphat… “คนฉลาดเขาต้องคุยให้รู้เรื่องกันก่อน แต่นี้คือคน...”

นายทศวัฒน์... “แค่ขั้นตอนก็ปาไป 3-4 ปีแล้ว และยังไม่เสร็จด้วย ต้นไม้ที่อยู่ในสภาวะควบคุมไม่อาจโตได้ในสภาพแวดล้อมทั่วไป แต่ก็เอาใจช่วยครับ”

Adisak… “เบรกไว้ก่อนครับท่าน”

ดำเนิน... “โรคระบาดล้อมรอบ ระบาดทุกทิศทั่วไทย จะเปิดเทอมได้ไหมครับ”

ศศลักษณ์... “ก่อนที่จะประเมินสมรรถนะนั่น นี่ โน่น ช่วยประเมินสถานการณ์การจัดการเรียนการสอนก่อนมั๊ย..แถมยังมีนโยบายปลอด 0 ร มส มผ มาอีก ไปกันใหญ่แล้ว”

ผอ.สมชาย... “น่าตกใจ”

Daranee… “เอาที่สบายใจค่ะ”

ครูหน่อย... “ถ้าจะปรับเปลี่ยนจริงๆ ก็อยากให้เริ่มจากการทำความเข้าใจในตัวหลักสูตร โครงสร้างเวลาเรียน ใช้เป็นเปอร์เซ็นใช้อย่างไร ตรงไหนเหมือนเดิม ตรงไหนเปลี่ยนไป..อีกเยอะแยะค่ะ..แต่ที่ทาง ร.ร.ได้รับการอบรมคือ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และวัดประเมินผลฐานสมรรถนะ..เหมือนจะเป็นการข้ามขั้นตอนกันเลยทีเดียวค่ะ..ตอนนี้ทาง ร.ร.ยังไม่รู้เลยว่า อบรมแล้ว ต้องให้ทำยังไง ไม่ได้บอกเลยว่า ให้ขยายผล ให้จัดทำแผนการสอนเพื่อใช้ในปีการศึกษานี้ หรืออย่างไร..ถามวิทยากรของทางมหาวิทยาลัยที่รับผิดชอบเป็นหน่วยอบรม ก็ให้คำตอบเราไม่ได้ บอกให้คุยกับศึกษานิเทศก์แล้วถามทาง สพฐ.เอง ตอนนี้ งงๆ ในดงหลักสูตรค่ะ”

Wi Ko... "ครูหน่อย ครูหน่อย ถ้าจะใช้จริงน่าจะมีกลุ่มโรงเรียนนำร่องก่อนแล้วค่อยปรับใช้กับโรงเรียนทั่วไปด้วยครับ"

ชัยภร... “สับสนอีกแล้ว”

Supat… “ขายฝันไหมครับท่านทั้งหลาย นั่งคิด นอนคิด แล้วก็คิดว่า น่าจะ แต่ไม่ดูสภาพจริงของโรงเรียนทั่วประเทศ”

วิชญพิศุทธิ์... “พวกทำลายการศึกษาไทย ไม่ใช่ครูที่ทำการสอน แต่เป็นพวกไม่เคยสอน???? และเก่งแต่ทฤษฎี เรื่องปฏิบัติจริงๆ แล้วห่วยแตก แล้วมาโทษครูผู้สอน”

พงษ์... “5555 เป็นไรมาโทษครู..มันไม่เคยโทษฝ่ายนโยบายหรือคนสั่งให้ครูทำเลย”

หนุ่ม สะแกกรัง... “ยังไม่ควรเปลี่ยนหลักสูตรตอนนี้ครับ”

นายสำราญ คำป้อง... “หวังขายหนังสือกับสำนักพิมพ์ ผู้ปกครองเดือดร้อนอีกแล้ว ท่านปลัดกระทรวงศึกษาควรคัดค้านครับ ฝากผลงานไว้ก่อนเกษียณฯครับ เชื่อท่านเป็นคนใจซื่อมือสะอาดประวัติไม่มีด่างพร้อยครับท่าน งงจริงๆ กับบอร์ด กพฐ. รองเลขาฯพูดอีกเรื่อง เลขาฯก็พูดอีกอย่าง ครูเขาปวดหัวแล้วนะ ขณะยังไม่เปิดเทอมหางานเพิ่มมาให้อีกแล้ว คืนครูให้ห้องเรียนเป็นคำพูดที่สวยหรูจับต้องไม่ได้”

พิทักษ์กุล... “เปลี่ยนทุกปีเยไอ้หลักสูตร หลักการหาเงิน”

จิตกร... “นักคิดมันเยอะ นักคิดนอนคิดในห้องแอร์ โดยอ้างว่าลงพื้นที่ทำวิจัย”

Paijit… “โอ้ย!!หนักหนาสาหัส..ขึ้นทุกวัน..เรียนบ่รู้เรื่อง..เบลอๆ มึนๆ งงๆ...แล้วเขามาอัดวัคซีน..โควิด..ยิ่งไปกันใหญ่.,.(ไม่รุจะเอาอะไร..ล่ะทีนี้) สุดท้ายก็...มาด่า..ครูอีก.สอนจั่งใด๋...!?!?)”

เดชา... "ท่านบุญสม ทองศรีพราย ประธานสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้...สู้ๆ เพื่อครูและเด็กไทย"

ชนกนาถ... “ดีใจจังมีคนกล้าพูด”

ปิยะรัตน์... “สำรวจกล่องรับสัญญาณ นักเรียนเรียนทางไกล สำรวจแล้วสำรวจอีก 2 ปีแล้วนักเรียนยังไม่ได้รับอะไรเลย”

Sun Song… “ขอโทษนะครับ ถ้าเราจะเม้นท์ว่า "ประสาท !" จะถือว่าเป็นคำหยาบมั้ยครับ”

สมโภชน์... "พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นเหตุ โรงเรียนในโครงการเลยรับผล"

คนหลังคัน... "มาสอนนักเรียนกับคุณครู แล้วจะได้สมรรถนะอย่างแท้จริง..."

Titigorn... "งานเอกสารทั้งนั้น คืนครูสู่ห้องเรียนไม่มีจริง"

นิฐา... "กรรมซ้อนกรรม"

Kruweaw... "ผลาญกันเข้าไป มีอะไรที่น่าสงสารกว่าเด็กไทยและครูไทยบ้างมั้ย สนองแทบไม่ทัน"

ประทุม เรืองฤทธิ์ ประธานสมาพันธ์ครูภาคใต้ "แปลกใจเหมือนกันคำว่า สมรรถนะ หมายถึง พฤติกรรมทั้งทางกาย สมอง สู่ทักษะในชีวิต หลักสูตรคือ มวลประสบการณ์ที่ต้องการให้เด็กเรียนรู้ แล้วทำไมต้องเป็นหลักสูตรสมรรถนะ เราสามารถหลอมรวมได้ ปรับเปลี่ยนวิธีสอนให้มีสมรรถนะตามเนื้อหาหลักสูตรที่ใช้กันอยู่ ซึ่งเน้นสมรรถนะด้านต่างๆ ที่ต้องการให้ครบถ้วน...ก็ไม่เข้าใจว่า สพฐ.กำลังทำอะไรกันอยู่ หรือว่าผมเข้าใจ แคบเกินไป"

สุรวุฒิ... "หลักสูตรขาดหลักการวิจัย ไม่ชัดเจน ขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผมเห็นด้วยกับ อ.สมพงษ์ จิตระดับ อดีตอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่บอกว่าการยกร่างหลักสูตรสมรรถนะทำแบบสะเปะสะปะ

คุณชาย เกษตร... "เอาความเป็นจริงครับ"

อรรถพล... "ป่นปี้หมดการศึกษาไทย"

คุรุชน บนขุนเขา... "เอาจริงเอาจังกับหลักสูตร"

ธีรพงศ์... "เคลียร์เลยครับ ตอนนี้ถอยหลังเข้าคลองจนจะจมมิดแล้วครับ

Suwit B... "ขอคนที่เป็นครูมาก่อน มีใบประกอบวิชาชีพครูมาเป็น รมต.ได้หรือไม่ เขาจะเข้าใจครู เข้าใจบริบทโรงเรียนได้ดี เปลี่ยนบ่อยแบบนี้สงสารครู สงสารนักเรียนบ้างสิครับ นักวิชาการก็ลองมาสอนบ้าง ศน.ก็ลงมาโค้ชครูอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ไม่ใช่วิ่งตามนโบายเยอะแยะที่ไม่ได้ส่งเสริมสมรรถนะครู สมรรถนะนักเรียนอย่างแท้จริง"

Nongnuch Sing... "งงเด้"

Pipat... "วันนี้ กระทรวงร่วม สนพ."

Chak Boontanom... "สูตรที่ไม่นิ่ง ก็วิ่งไม่ดี"

Phaderm... "รมต.มั่วๆ ไปก่อนตามเคยๆ สักพักก็เปลี่ยนคนครับ ยุคนี้"

Rungroj Roopsom... "จะทำอะไรก็รีบทำเถอะครับ เมื่อยนำเด้"

บัณฑิต วุยแพ... "จะเปิดเทอมอยู่แล้ว"

นงลักษณ์... "หยุดทำงานแล้วก็นั่งเฉยๆ จะดีมาก แค่นี้ครูก็วุ่นวายกับเรื่องที่ไม่ใช่การเรียนการสอนมากมายแล้วค่ะ"

กฤษติกา... "ขอที่ปรึกษาด้านการจัดการศึกษาที่มีประสบการณ์สูงๆ มาช่วย รมต.ศึกษาด่วนๆ ขอ 3 คน เพราะทุกวันนี้ครู ผู้ปกครอง นักเรียน ไปไม่เป็นแล้ว มืด 10 ด้านเลย"

ขนิษฐา... "หยุดเถอะแม๊...แค่นี้ก็ป่นจนจับทิศทางไม่ถูกแล้วค่ะ...เอาของเดิมให้พัฒนาขึ้นก็พอแล้วค่ะ"

นายสำราญ คำป้อง.... "ต้องเชื่อนักวิชาการครับ อย่าดันทุรัง"

ยศวดี... "จ้า ขอบคุณท่านนักวิชาการ สงสารครูที่ต้องวิ่งตามหน้อยค่ะ"

หนอมบัวแดง... "เคลียร์ รัด ทะ มน ตี้ ก่อนได้ไหม อยากได้คนที่มาจากวงการการศึกษาจริงๆ บ้าง จะพอมีหวังไหม"

Kimmy... "ยกเลิกไปเลยยิ่งดี"

Chaiwut... "ผู้ปฏิบัติ ตายอย่างเดียว ส่อเเววล้มไม่เป็นท่า"

Supat Thong... "หาบรรจุครูมาสอนนักเรียนให้ครบทุกวิชา ครบห้อง เป็นหยังมาเปลี่ยนหลักสูตรโน่นนี่นั้น สุดท้ายกะบ่มีคนสอน สิโทษหยังอีกครับท่าน"

Nunit... "คุณเคยสอนจริงป่ะ"

Chaiwut... "ผู้ปฏิบัติ ตายอย่างเดียว ส่อเเววล้มไม่เป็นท่า"

Kannika Khu... "อยากทำอะไรก็ทำค่ะ เพราะครูพร้อมเหนื่อย!!!"

คนหล่อ โสด... "เลอะเทอะที่สุด ปรับทุกอย่างทำทุกอย่างแต่ไม่ได้ประโยชน์อันใด ครูผู้ปฏิบัติเขาอึดอัดกันแค่ไหน ลองมาสอนสักเดือนและรับงานที่ตนเองสั่งดู"

Sai... "จริง นโยบายรายวัน ครูตามไม่ทันแล้วจ้าาา"

นายสำราญ คำป้อง... "ธุรกิจการศึกษา"

ณิภ์รัสติยา... "บางเขตก็ทำโครงการอบรมเช่นกัน เพื่อเบิกงบแหละดูออก"

ธนพร ทรง... "ทันหรือวันศุกร์ให้เข้ารับฟังแล้ว"

 

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)