สอศ.ประชุมภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนอาชีวศึกษารูปแบบนอกระบบสะสมผลลัพธ์การเรียนรู้ในระบบCredit Bank

 

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จัดประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแนวทางการจัดการอาชีวศึกษารูปแบบนอกระบบ เพื่อสะสมผลลัพธ์การเรียนรู้ในระบบคลังหน่วยกิต (Credit Bank) เทียบโอนประสบการณ์ และระบบการศึกษาทางไกล ระหว่างวันที่ 18 - 20 กันยายน 2566 โดยว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(เลขาธิการกอศ.) มอบหมายให้ ดร.นิติ นาชิต ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ เป็นประธาน ณ โรงแรมทาวน์อินทาวน์ กรุงเทพมหานคร

 

ดร.นิติ นาชิต  กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแนวทางการจัดการอาชีวศึกษารูปแบบนอกระบบเพื่อสะสมผลลัพธ์การเรียนรู้ในระบบคลังหน่วยกิต (Credit Bank) เป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และจุดเน้นการปฏิบัติราชการของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ด้านการขยายโอกาสอาชีวศึกษา ในการส่งเสริมการเรียนรู้ ผ่านขั้นตอน Learn to Earn เพื่อ“เรียนรู้มีรายได้ เรียนรู้ง่ายตลอดชีวิต” ทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกช่วงวัย สามารถโอนหน่วยกิตที่สะสมไว้ หางานได้ในทุกช่วงของชีวิต โดยการขับเคลื่อนระบบการอาชีวศึกษาให้เอื้อต่อผู้เรียนทุกกลุ่มเป้าหมายและช่วงวัย

 

 

“การจัดอาชีวศึกษาให้เป็นระบบเปิด (Open Entry Open Exit) ให้ความสำคัญกับระบบสะสมหน่วยกิต เทียบโอน และธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพิ่มโอกาสให้ประชาชนที่มีอาชีพแล้ว หรือผู้ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ให้ได้รับวุฒิการศึกษา โดยใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการทำงาน การประกอบอาชีพ สมรรถนะที่ได้เทียบโอนความรู้และประสบการณ์เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา และสามารถนำผลลัพธ์การเรียนรู้และมวลประสบการณ์สะสมในระบบคลังหน่วยกิต (Credit Bank

 

ซึ่งสอศ.ให้ความสำคัญในการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ในการเข้าถึงการศึกษาอาชีวศึกษาได้อย่างทั่วถึง ตอบสนองความต้องการของประชาชนวัยเรียน วัยทำงาน หรือผู้ที่ออกจากระบบการศึกษาแล้วสามารถเรียนเพื่อให้ได้รับวุฒิการศึกษา อันเป็นการสร้างศักยภาพการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อความสำเร็จในการศึกษาอนาคต

 

 

ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ กล่าวด้วยว่า ประเด็นหลักในการประชุมในครั้งนี้ เพื่อจัดทำแนวทางการดำเนินงานระบบคลังหน่วยกิตการอาชีวศึกษา และจัดทำหลักเกณฑ์ แนวปฏิบัติและการจัดการอาชีวศึกษาด้วยวิธีการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์รายวิชา รวมทั้งการจัดทำแนวทางการดำเนินงานการจัดการอาชีวศึกษาด้วยระบบการศึกษาทางไกล

 

 

สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้แทนสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ผู้แทนมหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้แทนมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้แทนสถาบันการศึกษาทางไกล กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยศึกษานิเทศก์ ผู้แทนจากสถาบันการอาชีวศึกษา ผู้แทนจากสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ 

https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage