มหา'ลัยพุทธโลก ร้องถูกรัฐทอดทิ้ง ขาดงบ - บุคลากร อาจขอย้ายที่ตั้งไปต่างประเทศ

 

มหา'ลัยพุทธโลก ร้องถูกรัฐทอดทิ้ง ขาดงบ

- บุคลากร อาจขอย้ายที่ตั้งไปต่างประเทศ

 

นายพัลลภ ​​ไทยอารี ประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก(พ.ส.ล.) และ อธิการบดี​ มหาวิทยาลัยพุทธโลก (ม.พ.ล.) กล่าวว่า จากการประชุมกรรมการและที่ปรึกษาม.พ.ล.เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมีสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) ในฐานะนายกสภา ม.พ.ล. เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยกรรมการ ที่ปรึกษา ผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้แทนกรมการศาสนา ร่วมประชุมให้ข้อคิดเห็น ทั้งเสนอแนะแนวทางการบริหาร และกิจกรรมการดำเนินงาน เพื่อยกระดับม.พ.ล.ให้เป็นที่รู้จัก

 

นายพัลลภ กล่าวว่า ซึ่งในอดีตมีบางคนคิดว่า ม.พ.ล.เป็นมหาวิทยาลัยเถื่อน จึงปฏิเสธที่จะร่วมงานหรือให้ความร่วมมือ แต่ในความเป็นจริงแล้ว พ.ส.ล.มีมติ ตั้ง ม.พ.ล.ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 20 ที่นิวส์เซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ในวันที่ 29 ต.ค.-2 พ.ย.2541 จากนั้นเสนอกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เพื่อจัดตั้งศูนย์อำนวยการ ม.พ.ล.ที่ประเทศไทย เพื่อเป็นสังฆราชานุสรณ์ ครบ 7 รอบ 84 พรรษา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร

 

​​ศธ.ได้ขอมติครม. ให้ตั้งศูนย์อำนวยการขึ้นในประเทศไทย โดยครม.ให้ความเห็นชอบตามที่เสนอ ม.พ.ล.จึงตั้งขึ้นโดยมี​​มติ ครม.รองรับ ดังนั้น สถานะม.พ.ล.เหมือนกับ University คือ ทำวิจัยเสนอองค์การสหประชาชาติ (UN) แต่ปัญหาของ ม.พ.ล. คือ งบประมาณจากภาครัฐที่จัดสรรให้น้อยไม่เพียงพอกับกิจกรรม ขณะที่ พ.ส.ล.ก็ไม่มีงบฯสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้บุคคลากรมีจำกัด งบฯรายจ่ายที่จำเป็นอื่น ๆ ส่วนมากได้รับการสนับสนุนจากภาคีสมาชิกจากต่างประเทศ ส่วนผู้ทำงานมาด้วยจิตอาสา

 

ดังนั้น หากขาดการสนับสนุนจากภายในประเทศ ไม่แน่ว่าที่ตั้งสำนักงานใหญ่ พ.ส.ล.อาจจะต้องย้ายไปที่อื่น ที่มีกำลังสนับสนุน เช่น ในประเทศญี่ปุ่น ที่แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ มีการเปิดนาลันทามหาวิหารเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ไทยสูญเสียความเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาแห่งโลกได้ ดังนั้นที่ประชุมจึงเสนอความเห็นเพื่อแก้ปัญหาการเงิน โดยให้ พ.ส.ล.และ ม.พ.ล.คิดนอกกรอบ ทำกิจกรรรมพิเศษ

 

กล่าวต่ออีกว่า ส่วน ม.พ.ล.ขอตั้งที่พุทธมณฑล จัดการสอนระดับปริญญาเอก หรือการแพทย์ น่าจะมีทางสร้างรายได้มาสนับสนุนองค์กรได้ แต่ พ.ส.ล.และม.พ.ล.ต้องชัดเจนเรื่องวิสัยทัศน์ เป้าหมายและนโยบาย โดยหลังจากนี้จะนัดหารือ​​กับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดวิธีปฎิบัติรวมทั้งการดำเนินงานต่อไป

 

องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) เป็นองค์กรระหว่างประเทศของพุทธศาสนิกชนซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ (๑๙๕๐) ณ ประเทศศรีลังกา โดยการริเริ่มของ ดร. คุณปาล ปิยเสน มาลาลาเสเกรา ซึ่งเป็นผู้ทรงความรู้ด้านบาลีผู้มีชื่อเสียง เป็นผู้เชิญชวนผู้แทนสถาบันทางพุทธศาสนาจากประเทศต่าง ๆ มาร่วมประชุมกัน อันนำไปสู่การจัดตั้งองค์กรระดับโลกขึ้นมา

 

ในครั้งนั้น ได้รับการตอบสนองอย่างเกินความคาดหมาย บรรดาผู้แทนชาวพุทธจากทวีปเอเซีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ (รวมทั้งฮาวาย) พร้อมเพรียงใจกันมาร่วมประชุม ณ กรุงโคลอมโบ ประเทศศรีลังกา มีผู้แทนชาวพุทธจำนวนมากถึง ๑๒๙ ท่าน จาก ๒๗ ประเทศโดยไม่นับรวมที่เป็นผู้แทนของศรีลังกา

 

การประชุมครั้งประวัติศาสตร์ในคราวนั้น จึงทำให้องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกถือกำเนิดขึ้นมา นับเป็นอุบัติการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนิกชนที่ทั้งคฤหัสถ์และสงฆ์แทบทุกนิกายในโลกพร้อมเพรียงใจกันมาร่วมประชุมเพื่อความวัฒนาของพระพุทธศาสนา

 

ปัจจุบันนี้ พ.ส.ล. มีศูนย์ภาคี ๑๘๙ แห่ง ใน ๕๐ ประเทศทุกภูมิภาคทั่วโลก ศูนย์ภาคีเหล่านี้คือองค์กรเผยแผ่พุทธศาสนาของ พ.ส.ล. และดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อจรรโลงและเผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอน ของ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้เกิดสันติภาพและความสุขในมวลมนุษยชาติ

 

องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) (พ.ส.ล.) มีสำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่เป็นการถาวร ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ในอุทยานเบญจสิริ ระหว่างถนนสุขุมวิท ซอย 22 และ ซอย 24 เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage