แคมเปญ ศธ.! เรียนรู้เพื่อการสอนฯ ก่อนเปิดเทอม 64 "ผิดพลาด-ผิดเวลา"??

เสวนากับบรรณาธิการ 11 พฤษภาคม 2564

แคมเปญ ศธ.!ก่อนเปิดเทอม 2564

"เรียนรู้เพื่อการสอน สอนเพื่อการเรียนรู้"

ในช่วงที่ ร.ร.วุ่นเตรียมการรับมือโควิด-19

ผิดพลาด-ผิดเวลา-สะท้อนปัญหาลงทุน??

 

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ บรรณาธิการ

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า วิกฤต โควิด-19” เป็นตัวแปรสำคัญ ที่นำพาผู้คนให้เข้าถึงโลกออนไลน์ และขณะเดียวกัน วิกฤต โควิด-19” ได้สะท้อนให้เห็นความปกติใหม่ของการศึกษาไทยในอีกหลายมิติ ที่สังคมเราต้องพยายามทำความเข้าใจในพฤติกรรมของบรรดาผู้บริหารทางการศึกษา ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงพื้นที่การเรียนรู้ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง ตอบโจทย์วิถีไทย วิถีโลกในอนาคต ตามภาพที่คาดหวังหรือไม่เพียงใด

กล่าวสำหรับการศึกษาไทย ในภาวะโควิด-19 ระลอก 3 ส่งผลให้มีการเลื่อนวันเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 จากเดิม 17 พฤษภาคม ออกไปเปิดเรียนวันที่ 1 มิถุนายน 2564 จึงนำมาสู่แคมเปญกระทรวงศึกษาธิการ จัดถ่ายทอดสดผ่านระบบ obec channel, zoom, facebook live, youtube live เรียนรู้เพื่อการสอน สอนเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งเต็มไปหัวข้อกำหนดกิจกรรมยาวเหยียด 14 วัน 80 กิจกรรม วันละ 6 ชั่วโมง 80 วิทยากรชื่อดังบรรยายผ่านการสื่อสารทางเดียว  

เชื่อมโยงกับการแถลงของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยกเหตุผลอธิบายเหตุการณ์และเงื่อนไขที่เกิดขึ้นว่า เป็นการมุ่งจัดการเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนและครูสำหรับการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์และมีการจัดตั้งเว็บไซต์ครูพร้อม เพื่อเป็นคลังความรู้และกิจกรรมต่าง ๆ ให้นักเรียนและครูได้เรียนรู้ระหว่างที่รอเปิดภาคเรียน รวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจจะพัฒนาทักษะของตัวเองก็สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ เป็นสำคัญ

ก็รับฟังได้ในภาพรวม และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย บรรยากาศจะไม่เหมือนเดิม เนื้อหาในกิจกรรมที่ถูกจำกัดด้วยเวลา ไม่สามารถดึงดูดโน้มน้าวกลุ่มเรียนรู้ให้สนใจได้ตลอด นี่ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหา แม้จะมีแบบผ่าน OnlineOnsiteOnairOnhand และ OnDemand ไว้ถึง 5 รูปแบ ซึ่งเกิดจาการถอดบทเรียนการจัดการศึกษาในการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกที่ผ่านมา ให้ศึกษาทบทวนและต่อยอดไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อสถานศึกษาแต่ละแห่งเลือกไปใช้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ แต่จะมีคุณค่าและสามารถนำไปปฏิบัติต่อได้อย่างแท้จริงหรือไม่ คงต้องรอดู

สุดท้าย ในบทบาทของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ คือ วางระบบติดตาม ประเมินผลและรายงานผลการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจะต้องไม่เป็นภาระกับสถานศึกษา แต่ไม่วายวางเงื่อนไขอันเป็นภาระให้กับคนปลายทาง ที่กำหนดว่า โรงเรียนใดจะใช้รูปแบบใดในการจัดการเรียนการสอน ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อน

จึงมิอาจมองข้ามความย้อนแย้งถึงสิ่งที่คาดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ย่อมยากแท้

นอกจากนี้ เท่าที่ผ่านมาหลายโครงการอันเป็นกิจกรรมสำคัญระดับชาติในเรื่องของการศึกษา เชื่อว่าจะสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือกู้วิกฤติ ถ้อยคำอันสวยหรู ดูดี มีคุณค่า เปี่ยมด้วยพลังและความหวังต่อท้าย คือ จะมีการถอดบทเรียนเมื่อสิ้นสุดโครงการหรือดำเนินงานตามกำหนดไว้ และทำทันทีที่เสร็จสิ้นกิจกรรม เพราะเป็นการรวบรวมความรู้ในระยะยาวสำหรับคณะทำงานในอนาคต

แต่ถามว่า กี่หมื่นกี่พันโครงการมีแต่ผ่านมาและผ่านไป เราเคยเห็นสักกี่ชิ้นงานในรอบ 2 ทศวรรษ ขณะที่เม็ดเงินที่ต้องจ่ายออกไปมหาศาลกลายเป็นตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพื่อแก้ปัญหาความตกต่ำในเรื่อคุณภาพและการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา อันยากที่จะเห็น

หากนำกิจกรรม เรียนรู้เพื่อการสอน สอนเพื่อการเรียนรู้ ที่เต็มไปกิจกรรม 80 กิจกรรม 80 วิทยากร วันละ 6 ชั่วโมง ยาวเหยียดเช้า-เย็นตลอด 13 วัน ในช่วง 12-28 พฤษภาคมนี้ มาปรับใหม่ ก็คงเป็นไปไม่ได้ ยังไงต้องเดินหน้าต่อไปตามกำหนดการ ท่ามกลางคำถามที่มีอยู่ในใจสังคมมิใช่น้อย  

ดังข้อความแสดงความคิดเห็นของ อาจารย์อรรถพล​ อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์​ จุฬาลงกรณ์​มหาวิทยาลัย​ ส่งไปถึง รมว.ศธ. ตรีนุช​ เทียนทอง หลากหลายประเด็น ซึ่งขออนุญาตหยิบยกนำบางประเด็นมาให้เห็น ดังต่อไปนี้

...โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์​ และเห็นกำหนดการในโปรแกรมอบรมครูทั่วประเทศ ​ที่ส่งต่อกันในไลน์อย่างกว้างขวางแล้ว​ เกิดข้อสงสัยอย่างยิ่งเกี่ยวกับการคัดเลือกวิทยากรโดยระดมครูจากสถาบันกวดวิชา​ แ​ละเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมจากสถาบันเอกชนที่ขายคอร์สพัฒนาครูเป็นหลัก​ มาอบรมครูในระบบ...  

...เท่าที่ผมศึกษาดูจากนโยบายพัฒนาครูในหลายประเทศ​ ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา​ ยังไม่พบว่ามีประเทศใดในโลกดำเนินการด้วยแนวทางนี้นะครับ... 

...ธรรมชาติของงานที่ติวเตอร์ทำ กับครู​เต็มเวลาใน ร.ร.ทำ​ ต่างกันมาก​ การดึงพวกเขามาไม่ใช่ความผิดพวกเขาเลย...​

...แต่มันสะท้อนว่า การกำหนดนโยบายยังขาดความเข้าใจเรื่องการศึกษา​และไม่ได้กำหนดนโยบายบนฐานปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม ปฏิรูปนิยม​ และมนุษยนิยมใหม่​ อันเป็นหัวใจของการศึกษากระแสหลักที่มีคุณภาพทั่วโลก​ รวมทั้ง​ระบุอยู่ใน พรบ.การศึกษาฉบับปัจจุบัน กิจกรรมตามนโยบายนี้สะท้อนชุดความคิดที่ยังติดอยู่ในโลกของการศึกษา​ 100 ปีที่แล้ว​ ที่คิดว่าต้องหาวิธีถ่ายทอด​ อธิบาย​ วิเคราะห์ให้ฟัง​ มองงานสอนเป็นงานเชิงเทคนิควิธีการมากกว่าการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน...

...การอบรมแบบฟัง​อย่างเดียวให้ได้​ Input แบบนี้หลายประเทศยกเลิกไปนานแล้ว​ ใช้เฉพาะวาระรับฟังนโยบายบางอย่างที่สำคัญมาก​ ๆ​ หรือเชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องระดับนานาชาติมาคุย...

...ในลิสต์รายชื่อวิทยากรที่มี​ ผมเชื่อว่าสำหรับครูไทยที่เก่ง​ ๆ​ ใฝ่รู้​ รักดี ก้าวข้ามกำแพงภาษาพอได้​เห็นเข้าคงส่ายหัว​ พวกเขาหาฟังประชุมออนไลน์นานาชาติที่มีวิทยากรดัง​ ๆ​ ระดับเอเซีย-แปซิฟิค​ ระดับโลก​ ได้ด้วย​ Free Webinar​ หรือเรียนผ่าน​ Mooc และ Coursera ได้มากมาย​ ทั้งในและต่างประเทศ​ มาสักพักใหญ่แล้วนะครับ...

...หากจะเปรียบเทียบโดยง่าย​ เรากำลังเจอโจทย์ยากทางการแพทย์​ เช่น​ ​โรคระบาด​ ไม่มีประเทศใดจะกะเกณฑ์หมอ​ พยาบาล​ มานั่งฟังบรรยายจากนักเทคนิคการแพทย์​ หรือตัวแทนจำหน่ายยา ซึ่งทำหน้าที่ในฟังค์ชั่นอื่น มาอธิบายแนะนำ​ 'เครื่องมือ'​ และ​ 'สินค้า'​...

...แต่เขาจะสนับสนุนให้ระบบผู้ให้คำปรึกษา (Consultation)​ ระหว่างหมอและพยาบาลด้วยกันเข้มแข็ง​ ฟีดข้อมูลจากงานวิจัยและข้อมูลที่อัพเดตที่สุดให้คนทำงานภาคสนาม...

...ผมหาได้กล่าวโทษ​ หรือดูแคลนวิทยากรทุกท่านในลิสต์​ พวกเขาแค่ถูกเชิญ​ และเป็นการเลือกกำหนดโจทย์ที่ผิดจากผู้กำหนดนโยบาย...

...ผมเข้าใจว่า​ ท่าน​ รมว.ในฐานะผู้มาใหม่ของวงการย่อมถูกห้อมล้อม​ ให้คำแนะนำ​และมีคนพยายามขอเข้าพบจำนวนมากจากสารพัดบริษัทเอกชนที่ประกอบธุรกิจการศึกษา​และพร้อมเสนอความช่วยเหลือด้วยความหวังดีห่วงใย...

...น่าสนใจว่าเราเปลี่ยนรัฐมนตรีมาไม่รู้กี่คน​ แต่ปัญหาเหล่านี้ยังคงอยู่ ​เครือข่ายระหว่างเทคโนแครต ข้าราชการระดับสูง​ และหน่วยธุรกิจเหล่านี้​ น่าจะแข็งแกร่งเป็นกำแพงเหล็กที่ท่านคงต้องพยายามหาทางเจาะช่องรับฟังสื่อสารกับครูจริง ๆ ที่เป็นคนทำ​งานที่หน้างานให้มากขึ้น...

ผู้เขียนบทบรรณาธิการ เห็นด้วยกับ อาจารย์อรรถพล​ อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์​ จุฬาลงกรณ์​มหาวิทยาลัย​ ทุกประการ โดยเฉพาะข้อแตกย่อยในเรื่องให้เวลาคุณครูได้คุยหารือ​ ได้พัก​ ได้เตรียมตัวสอนเถิดครับ

ดีกว่าบังคับให้เปิดหน้าจอ เช็คชื่อ อบรมออนไลน์กับใครก็ไม่รู้​ ที่ไม่ได​้เข้าใจปัญหาเฉพาะหน้าที่ครูกำลังต้องเผชิญ​ แล้วก็ต้องแอบปิดกล้องนั่งประชุมเตรียมการสอนกันไป และฝากโจทย์ให้คุณครูขบคิดวิธีการทำความรู้จักสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกกับ​นักเรียนในการสอนทางไกลตั้งแต่สัปดาห์แรกของเทอม

ให้เด็ก​ ๆ​ ได้พัก​ ได้เล่นสนุกตามใจบ้างเถิดครับในช่วง​ 11​ วันที่เลื่อนเปิดเทอม​ เด็ก​ ๆ​ ล้ามาเต็มทีกับการเรียนปนไปปนมาระหว่างออนไลน์/ออฟไลน์​ หลายคนเครียด เบื่อ​ เหนื่อยล้า​ หมดแรงจูงใจไปแล้ว​ รวมทั้งอีกไม่น้อยที่ซึมซับรับรู้ความเครียดทางเศรษฐกิจ สังคม​ และความหวั่นกลัวการติดเชื้อร่วมกับผู้ใหญ่ 

และกระทรวงศึกษาธิการเองก็ไม่ใช่ผู้วิเศษ ที่รอบรู้เก่งกาจไปทุกอย่าง แต่ควรทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน จัดหางบประมาณ เป็นโค้ช สนับสนุนให้ทุก ร.ร.มีการจัดการประชุมออนไลน์ หรือถ่ายทอดสดผ่านระบบ zoom, facebook live, youtube live แลกเปลี่ยนกันเองกับครูที่ดูแลนักเรียน ติดตามผล ร่วมถอดรหัสนวัตกรรมเพื่อสร้างการเรียนรู้ในยุคเปลี่ยนผ่าน และสะท้อนคิดการเรียนรู้ผ่านงานวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน เพื่อพัฒนาผู้เรียน ในบริบทเดียวกัน นำไปปรับประยุกต์ใช้ได้เหมาะสมกับงานตามบทบาทภารกิจของตน 

บทเสริมสุดท้าย ในอีกมุมมองที่ว่า กิจกรรม เรียนรู้เพื่อการสอน สอนเพื่อการเรียนรู้ที่เต็มไปกิจกรรม 80 กิจกรรม 80 วิทยากร จากรัฐและภาคเอกชนชื่อดังระดับชาติ ตามคิวเข้ารายการตามคำเชิญนั้น ส่วนใหญ่จะเข้าลักษณะดูคล้าย ๆ จะได้โอกาสขายแบรน์ด ขายคอร์สอบรม แต่เราเชื่อว่า ทุกคนมาด้วยความตั้งใจและปรารถนาดี

คงต้องชมว่า งานนี้น่าจะเป็นระดับมืออาชีพเข้ามาทำงานเป็นทีม ล้วนมากด้วยฝีมือและประสบการณ์สูงยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นจังหวะการวางสคริป การปล่อยคอนเทนต์และจัดการเบร็ดเสร็จ ทั้งนามและกิจกรรมตามท้องเรื่อง ตลอดการวางแผนประชาสัมพันธ์ที่เหมาะเจาะลงตัว เร้าความน่าสนใจ ด้วยโปสตอร์หลายรูปแบบี่มีสีสันท มาตั้งแต่เดือนมีนา-เมษาฯที่ผ่านมา

มีคนเชื่ออีกด้วยว่า ช่วงเวลาสำคัญของสถานศึกษากำลังเตรียมเปิดภาคเรียนของปีการศึกษาใหม่ ภายใต้ เรียนรู้เพื่อการสอน สอนเพื่อการเรียนรู้ ที่เต็มไปกิจกรรม 80 กิจกรรม 80 วิทยากร วันละ 6 ชั่วโมง ยาวเหยียดเช้า-เย็นตลอด 13 วัน ตั้งแต่วันที่ 12-28 พฤษภาคม 2564 ของกระทรวงศึกษาธิการ ทุกโครงการและทุกกิจกรรมที่มากด้วยค่าใช้จ่ายที่จำต้องจ่าย  

ในที่สุดงานนี้เมื่อจบแล้วเห็นที คุณตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. ต้องมีการแจงงบประมาณที่มาที่ไปเพื่อความโปร่งใส สบายใจทุกฝ่าย ตรวจสอบได้ และมีการถอดบทเรียน ติดตามและประเมินผลโครงการ ตามสัญญา  

เพราะเชื่อว่า...ทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง โปรดใช้วิจารณญาณ

  

EdunewsSiam : เสวนากับบรรณาธิการ    

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)