มองต่างมุม!แก้ ร่าง กม.ศึกษาชาติ ปมหมกเม็ด? ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู

“สคคท.-ค.อ.ท.”มองต่างมุม! แก้ ร่าง พ.ร.บ.ศึกษาชาติ

ว่าด้วยปมหมกเม็ด? ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู

 

พลันที่สมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท.) ที่มี ดร.ดิเรก พรสีมา ทำหน้าที่เป็นประธาน ได้ออกเอกสารชี้แจงผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา และประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เรื่องร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ โดยมีสาระสำคัญชี้ให้เห็นถึงบทบาทของ สคคท.

“ตั้งแต่การรวบรวมรายชื่อประชาชน 14,506 คน เสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับภาคประชาชน ซึ่งถ้า สคคท.ไม่ได้ดำเนินการ รัฐบาลก็จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับของฉบับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ที่มี ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน เข้าพิจารณาในสภา และด้วยเสียงสนับสนุนของ ส.ส.และ ส.ว.ของรัฐบาล ร่าง พ.ร.บ.ฉบับ กอปศ.คงผ่านเรียบร้อยแล้ว

แต่เมื่อ สคคท.เสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับภาคประชาชนดังกล่าว และได้เข้าไปร่วมพิจารณาในคณะกรรมการกฤษฎีกา ทำให้คนวงการศึกษาได้รับรู้ ได้ช่วยกันแก้ไข ซึ่ง สคคท.จะทยอยให้ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบ ข้อดี จุดอ่อน ประเด็นที่ต้องเสนอให้แก้ไข ให้กับผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา และประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ได้ช่วยกันศึกษา ให้ข้อเสนอแนะ เพื่อประโยชน์ของการศึกษาของชาติต่อไป

พร้อมทั้งได้หยิบยกประเด็นแรก ซึ่งครูให้ความสนใจคือ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูโดย สคคท.ได้ให้ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ใช้คำว่า ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู , ร่าง พ.ร.บ.ฉบับของ กอปศ. เป็นฉบับที่รัฐบาลเสนอเข้าคณะกรรมการกฤษฎีก ใช้คำว่า ใบรับรองความเป็นครู

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับของ สคคท.ที่นำเสนอสภาผู้แทนราษฎรในนามภาคประชาชน และรัฐบาลให้นำเข้าพิจารณาร่วมกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับของ กอปศ.ในคณะกรรมการกฤษฎีกา ใช้คำว่า ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูโดยในการพิจารณาตัวแทน สคคท.ได้นำเสนอข้อมูล เหตุผลให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้ใช้คำว่า ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู รวมทั้งเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้นำเสนอผลการประชาพิจารณ์ครู 4 ภูมิภาค ต้องการให้ใช้คำว่า ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

แต่ผลการพิจารณาของที่ประชุมให้ใช้คำว่า ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู โดยมีเจตนารมณ์เมื่อครูมีคุณสมบัติครบตามที่กฎหมายกำหนดให้มีใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู และไม่ต้องมีการต่ออายุ ถ้าไม่มีการทำความผิดก็สามารถใช้ได้ตลอดชีพ

นอกจากนี้ ในเอกสารชี้แจงผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา และประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ของ สคคท.ฉบับนี้ ยังระบุว่า สิ่งที่ สคคท.ต้องดำเนินการต่อคือ ถ้ารัฐบาลนำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉับที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวนี้เข้าพิจารณาในสภา สคคท.จะต้องนำเสนอในรัฐสภาให้แก้ไขเป็น ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ตามที่ได้สอบถามความคิดเห็นของครูทั้งประเทศ และขอให้เพิ่มเมื่อได้ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ไม่ต้องมาเสียเงินต่ออายุทุก 5 ปี แต่ให้มีระบบการประเมิน เพื่อให้ครูได้พัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องตามกฎหมายที่กำหนด”

อย่างไรก็ตาม ในฝั่งของเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) กลับมองมุมต่างจากกลุ่ม สคคท.ในประเด็นที่เชื่อว่า ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงคำสำคัญในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับรัฐบาลที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา จากคำว่า ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู มาเป็น ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ได้ หากร่าง พ.ร.บ.ถูกบรรจุนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาแล้ว

โดย ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ ประธานชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย และนายธนชน มุทาพร ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ช.ผอ.สพท.) ในนามเครือข่าย ค.อ.ท. ได้หยิบยกให้เป็นข้อสังเกตไว้ว่า

“ในการร่างพระราชบัญญัตินั้น โดยหลักแล้วจะมีบันทึกหลักการเหตุผลเพื่อเป็นการแสดงขอบเขตและเจตนารมณ์ของกฎหมาย/ชื่อร่าง พ.ร.บ.เพื่อให้ทราบว่ามีเนื้อหาสาระที่จะใช้บังคับแก่เรื่องใด/ คำปรารภเพื่อทราบขอบเขตของพระราชบัญญัติ/ บทจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะบัญญัติไว้กว้างๆ ไม่เจาะลึกเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

แต่ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯฉบับที่เป็นปัญหานี้ เขียนเหตุผลว่า เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้การจัดการศึกษาบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย จำเป็นต้องกำหนดให้ครูมีใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู.....

ในขณะที่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ บัญญัติว่า พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล.....

ซึ่งการที่ร่าง พ.ร.บ.บัญญัติเรื่อง ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครูไว้ในเหตุผลของการร่างกฎหมายนั้น น่าตั้งข้อสังเกตว่า มีเจตนาหมกเม็ดอะไรหรือไม่?

เพราะถ้าสภามีการรับหลักการแล้ว ก็ไม่สามารถจะไปแก้ไขในตัวบทได้ เพราะจะเป็นการขัดเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังที่ได้บัญญัติไว้ในข้อบังคับการประชุมสภา พ.ศ.๒๕๖๒ ที่บัญญัติว่า ...การแปรญัตติเพิ่มมาตราขึ้นใหม่หรือตัดทอนหรือแก้ไขมาตราเดิม ต้องไม่ขัดกับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินั้น

ดร.รัชชัยย์ และนายธนชน ได้ตั้งข้อสังเกตเชิงวิตกกังวลต่อว่า  หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็อาจจะมีความเป็นไปได้หรือไม่? ในข้อบ่งชี้ที่ว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ อาจจะมีเจตนาแอบแฝงในสิ่งที่องค์กรครูกำลังหวาดหวั่นกันว่า จะมีเจตนาลดค่าใช้จ่ายของรัฐด้วยการตัดเงินค่าวิทยฐานะของครู ซึ่งเป็นข้าราชการกลุ่มใหญ่ของประเทศหรือไม่???

พร้อมทั้งทิ้งท้ายว่า ทุกตัวอักษรในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ จะอ่านเพลินๆ ไม่ได้ เพราะมีหลายมาตราที่ส่ออาจจะหมกเม็ด ซ่อนปมไว้มากมาย จึงอยากกระตุ้นเตือนให้เพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ได้โปรดช่วยกันอ่าน ศึกษา พิจารณา และให้ข้อเสนอแนะ เพื่อช่วยกันหาทางใดที่จะไม่ให้วิชาชีพครูต้องถูกด้อยค่าลงไปในสมัยของพวกเรา...!!

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)