คาดการณ์ไม่ยาก! ซี 11 ศธ.? ใครจ่อขึ้นบัญชีฤดูโยกย้าย

 

คาดการณ์ไม่ยาก!

ซี 11 ศธ.?

ใครจ่อขึ้นบัญชีโยกย้าย

 

คิดนอกกรอบ : คนข่าวการศึกษา 1 สิงหาคม 2564

สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ในรั้วกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์คาดการณ์กันเรื่องตัวบุคคลที่อาจเข้าข่ายได้รับการพิจารณาขยับโยกย้ายสลับเก้าอี้ในตำแหน่งผู้บริหาร ศธ.ระดับ 11 อันเนื่องจาก ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จะเกษียณอายุราชการสิ้นเดือนกันยายน 2564 นี้

 

โดยแม้จะมีกระแสข่าวว่า น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้กล่าวกับสื่อมวลชนประจำ ศธ.เมื่อเร็วๆ นี้ ในทำนองว่า "ยังไม่ได้เริ่มต้นพิจารณาเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารระดับ 11 แต่อย่างใด แต่จะให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้อย่างแน่นอน"

อย่างไรก็ตาม มีข้าราชการ ศธ.ทั้งที่ยังประจำการและเกษียณอายุราชการไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับ น.ส.ตรีนุช ต่างคาดการณ์กันว่า มีความเป็นไปได้อย่างสูงที่จะมีการโยกย้ายสลับเก้าอี้ระดับ 11

โดยอ้างอิงจากทิศทางกระแสข่าวการให้สัมภาษณ์ของ น.ส.ตรีนุชในระยะหลังมานี้ ดูค่อนข้างจะดุดัน แสดงออกมาในลักษณะให้ชวนคิดได้ว่า อาจมีความไม่พึงพอใจนักกับผลปฏิบัติงานของฝ่ายข้าราชการประจำในการสนองนโยบายแต่ละเรื่อง

เฉพาะอย่างยิ่งการให้สัมภาษณ์ผ่านทีมงานของ น.ส.ตรีนุชเอง ใน 2 เรื่องล่าสุด คือ 1.นางสาวตรีนุชให้สัมภาษณ์กรณีที่ได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องมาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของ ศธ. ลงนามโดย ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564

ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรการให้บุคลากรของแต่ละหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของ ศธ. ปฏิบัติงาน ณ ที่พักอาศัย หรือ work from home (WFH) ให้มากที่สุด เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล

“แต่ดิฉันได้รับรายงานว่า จนถึงขณะนี้หน่วยงานในสังกัดและในกำกับของ ศธ.บางแห่ง ยังมอบหมายให้บุคลากรมาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ทำงานในแต่ละวันทำการเป็นจำนวนมาก ทำให้บุคลากรมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อจากการมาปฏิบัติงาน ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง

อีกทั้งไม่สนองตอบนโยบายด้านสาธารณสุขที่ต้องการให้ “อยู่กับที่” ให้มากที่สุด จึงสั่งการให้ ดร.สุภัทรกำชับไปยังหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของ ศธ.ทุกแห่งว่า ต้องถือปฏิบัติตามประกาศ ศธ.ดังกล่าวอย่างจริงจัง เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของบุคลากร”

ตามมาด้วยการให้สัมภาษณ์ของ น.ส.ตรีนุชเรื่องที่มีนโยบาย “ตรวจฟรี-มีที่พัก-จัดส่งถึงมือแพทย์” เพื่อดูแลครู บุคลากรและครอบครัวที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและติดเชื้อโควิด-19 โดยในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม หน่วยงานต้นสังกัดจะต้องจัดเตรียมสถานที่หรือศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation Center : CIC) ให้ครู บุคลากรการศึกษา และครอบครัว

เช่น หอพักของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.), ที่พักของสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) และที่พักของสำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา (สสอ.) เป็นต้น

นโยบายนี้ได้รับความชื่นชมจากผู้คนในแวดวงการศึกษาเป็นอย่างมาก ด้วยความหวังว่าจะเกิดศูนย์พักคอยของ ศธ.ขึ้นโดยเร็ว

แต่ผ่านมานานหลายวัน ยังไร้วี่แววการขับเคลื่อนของข้าราชการประจำผู้ใต้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องให้บังเกิดผลตามนโยบายของ น.ส.ตรีนุชแม้แต่ที่เดียว

กระทั่งจู่ๆ มีการแจกข่าวสัมภาษณ์ของ น.ส.ตรีนุชให้กับสื่อมวลชน ศธ. โดยการสัมภาษณ์ของทีมงาน น.ส.ตรีนุชเอง มีเนื้อหาข่าวในทำนองว่า เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน เป็นที่รับทราบของประชาชนทุกคนทั่วประเทศว่า มีแนวโน้มของผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน และอาจจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปอีกสักระยะหนึ่ง ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงต้องช่วยกันดูแลอย่างเต็มที่

“แต่เมื่อมีรายงานจาก ดร.สุภัทร ปลัด ศธ.มาถึงดิฉันว่า หอพัก สกสค.ยังไม่สามารถเปิดใช้เป็นศูนย์พักคอยได้ ดิฉันจึงได้ประสานกับโรงพยาบาลจุฬารัตน์หาสถานที่พักคอยให้กับครู บุคลากรการศึกษา รวมถึงครอบครัว ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและติดเชื้อโควิด-19 เบื้องต้น ได้มีสถานที่พักคอยโดยเร็ว ซึ่งก็ได้รับความอนุเคราะห์ห้องพักของ The Letter Park ที่ได้เข้าร่วมโครงการฮอสพิเทล (Hospital) หรือหอผู้ป่วยติดโรคโควิด-19 เฉพาะกิจ โดยทาง The Letter Park จะจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้รองรับครู บุคลากรของ ศธ.และครอบครัว” น.ส.ตรีนุช กล่าว

มีการคาดการณ์กันว่า การสัมภาษณ์ของ น.ส.ตรีนุช โดยทีมงานของ น.ส.ตรีนุชเองทั้งสองเรื่องดังกล่าว ส่อให้ผู้คนใน ศธ.เข้าใจกันไปเองได้ว่า น่าจะเกิดจากอาการสั่งสมความไม่พึงพอใจกับผลปฏิบัติงานของฝ่ายข้าราชการประจำในการสนองนโยบายในหลายๆ เรื่องที่มีมาก่อนหน้านี้แล้ว หรือไม่?

เช่น เรื่องที่ น.ส.ตรีนุชได้ออกเป็นประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องแนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น ปีการศึกษา 2564 ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2564 โดยให้สถานศึกษาในสังกัดหรือในกำกับของ ศธ.ถือปฏิบัติ โดยเฉพาะในกรณีที่สถานศึกษาได้มีเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นไปแล้ว ให้คืนเงินในส่วนที่ไม่ได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนจริงนั้น

หาก น.ส.ตรีนุชได้รับคำแนะนำให้เชิญหน่วยงานต้นสังกัดสถานศึกษาทั้งรัฐและเอกชน มาประชุมติดตามและรายงานผลการคืนเงินค่าเทอมของสถานศึกษาต่างๆ ให้กับผู้ปกครองได้รับทราบเป็นระยะๆ คงจะทราบตัวเลขชัดเจนมากขึ้นว่า ผลจากนโยบายของน.ส.ตรีนุชในเรื่องนี้ ได้ช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครองไปได้มากน้อยเพียงใด

ไม่ใช่ปล่อยให้ น.ส.ตรีนุชถูกโจมตีปัญหาสถานศึกษาไม่คืนเงินตามนโยบาย จนมี ส.ส.พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลออกมาให้สัมภาษณ์เรียกร้อง น.ส.ตรีนุชให้ลาออกจากตำแหน่ง หากไม่สามารถสั่งการสถานศึกษาคืนเงินค่าเทอมในช่วงโควิด-19 ระบาดแก่ผู้ปกครองได้

ตกเป็นเป้ากระแสข่าวลบ กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องมอบหมายในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเวลาต่อมาให้ ศธ.และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปร่วมกันจัดทำแผนช่วยเหลือนักเรียน ผู้ปกครอง

จนในที่สุด ครม.อนุมัติงบประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท มาเยียวยานักเรียนทุกสังกัดทั่วประเทศคนละ 2 พันบาท พร้อมทั้งอัดฉีดเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์โควิด-19 ให้กับโรงเรียนต่างๆ อีก 400 ล้านบาท

หรือแม้แต่ปัญหาการร้องเรียนกล่าวหามาถึง น.ส.ตรีนุชในเรื่องต่างๆ อาทิ เรื่องกล่าวหาและเรียกร้องให้สอบสวนเงื่อนงำความไม่โปร่งใสการสรรหาผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (ผอ.สกสค.) 64 จังหวัด/กรุงเทพมหานคร

ซึ่งว่ากันว่า การดำเนินการสืบสวนเรื่องนี้ค่อนข้างเงียบเชียบในสายตาคนที่ติดตาม แม้แต่ น.ส.ตรีนุชเอง ยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าการสืบสวนเสร็จสิ้นแล้ว และมีการส่งเรื่องมาให้กับ น.ส.ตรีนุชแล้ว นัยว่าผู้บริหาร ศธ.ที่รับผิดชอบเรื่องนี้อาจไม่ได้มารายงานและชี้แจงให้ น.ส.ตรีนุชได้รับทราบโดยตรง จน น.ส.ตรีนุชไม่อาจให้สัมภาษณ์ตอบคำถามสื่อมวลชนประจำ ศธ.เมื่อเร็วๆ นี้ได้

หลากหลายเรื่องราวเหล่านี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงภาพลักษณ์ของ น.ส.ตรีนุช อาจกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาขยับสับเปลี่ยนเก้าอี้ผู้บริหาร ศธ.ระดับ 11 ในเร็วๆ นี้ ก็เป็นไปได้ ??

อย่างไรก็ตาม แว่วว่ามี 2 รายชื่อในช่วงเวลานี้ที่ว่ากันว่า มีฝ่ายบิ๊กๆ ข้าราชการประจำใน ศธ.พยายามคอยหนุนลุ้นช่วยเป็นคู่ชิงให้ติดโผขยับจากซี 10 ขึ้นมานั่งซี 11 แทนที่ว่างจากที่ ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา จะเกษียณฯ

นั่นคือ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)