ศธ.เปิดภาคเรียนที่ 2 บทพิสูจน์ฝีมือ "ตรีนุช"

 คิดนอกกรอบ จันทร์ที่ 11 ตุลาคม 2564

ศธ.เปิดภาคเรียนที่ 2 บทพิสูจน์ฝีมือ 'ตรีนุช'

วิชชา เพชรเกษม

 

 ..แต่เมื่อลองไล่เรียงเรื่องความคิดแค่จะเปิดเรียนเทอม 2 ในวันที่ 1 พ.ย. จะเห็นว่า ศธ.ตกหลุมดำทางความคิดแบบเดิม ๆ ที่ยังใช้หลงยึดติดกับอัตลักษณ์ ยุค 1.0 ในการบริหารจัดการเบ็ดเสร็จจากศูนย์กลางที่อยู่ข้างบน จึงทำให้มองไม่เห็นสภาพความจริงของปัญหาเพื่อนำไปสู่หนทางที่จะบรรเทาปัญหานั้น ๆ อย่างแท้จริง 

 

                                                                                                                                                                                                                                  

จับน้ำเสียง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในช่วงสัปดาห์ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเดียวกันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ได้ไปเป็นประธาน Kick-off สร้างภูมิป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เข็มแรกพร้อมกันในพื้นที่ 13 เขตสุขภาพ 15 จังหวัด ให้กับนักเรียนที่มีอายุ 12-17 ปี ไปแล้วที่โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ กทม.ด้วยวัคซีนไฟเซอร์ เด็กปลอดภัย เรียนอุ่นใจต้อนรับเปิดเทอม

ก็ไม่อยากคิดในทำนองต้องการโชว์ผลงานให้นายกฯมั่นใจเต็มร้อยว่า หากนักเรียนได้รับวัคซีนครบทั้งหมด สามารถเปิดเทอม ที่ 2 ในวันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นี้ แน่นอน

แต่เมื่อมองสถานการณ์การทำงานของศธ.ภายใต้ความกดดันของบรรดาผู้ปกครองและเด็ก ที่ต้องเผชิญกับความเครียดจากการเรียนออนไลน์ ไม่เว้นคุณครูทั่วประเทศต่างรอฟังว่า เมื่อไรการเรียนการสอนกลับเข้าสู่สภาวะปกติเสียที อีกทั้งการวัดและประเมินความพร้อมเด็กแต่ละคน แต่ละชั้นจะใช้วิธีการใดก็ยังไม่ชัดเจน แต่ก็ยังตามมาด้วยยังจะมาคิดเปลี่ยนการเรียนรู้แบบ Active Learning เดิมไปเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ อีกแล้ว

แค่เรื่องของการฉีดวัคซีนให้เด็กนักเรียนซึ่งมีความเชื่อมโยงอย่างสำคัญไปถึงการเปิดเทอมที่ 2 ศธ.เองก็ยังกึ่งแบ่งรับแบ่งสู้ให้สบายใจไปเป็นวันต่อวัน แต่ในทางตรงข้ามจะเป็นผู้สั่งการลงลึกลงไปในทุกรายละเอียดสู่ผู้ปฏิบัติในพื้นที่จึงมิอาจปฏิบัติได้ในบริบทแห่งความเป็นจริง รวมถึงปัญหาในการสื่อสารของศธ.เองที่ไร้เอกภาพ ยังทำให้เกิดความสับสนโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย  

ดูจากประเด็นการเสนอของบรรดาสื่อมวลชนหลายแขนงและหลายสำนัก ที่เผยแพร่ข่าว ศธ.ในวันที่นายกฯ Kick off  ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ นักเรียน 29 จ. ที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รุนแรง จากรายการข่าวเช้าหัวเขียว ทางช่องไทยรัฐทีวี 32 ขึ้นพาดหัวข่าวเมื่อช่วงเช้าวันที่ 5 ตุลาคม 2564  รวมถึงรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางทีวีช่อง 3 เมื่อเช้าวันที่ 4 ตุลาคม 2564 นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรเล่าข่าว กล่าวว่า “ เป็นการ Kick off  เริ่มต้นการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับนักเรียนในสถานศึกษา 15,465 แห่ง ใน 29 จังหวัดสีแดงเข้ม” นั้น

จริง ๆ  แล้ว การฉีดวัคซีนให้กับนักเรียน นักศึกษา ตามสื่อรายงาน วันนั้น ไม่ใช่ 29 จังหวัดสีแดงเข้มทั้งหมด 

แต่เป็นการ Kick off  ฉีดวัคซีน ในพื้นที่ 15 จังหวัด ใน 13 เขตสุขภาพ เช่น จ.บุรีรัมย์ พะเยา ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ขอนแก่น สุรินทร์ อำนาจเจริญ พัทลุง กรุงเทพมหานคร ฯลฯ เท่านั้น ซึ่งหลายจังหวัดไม่ได้อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม

จึงทำให้เกิดความสับสนและสงสัย ในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง ครู และผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม ไปด้วย

ทั้ง ๆที่ ศบค.ศธ.หรือประชาสัมพันธ์ ศธ.ควรทำหน้าที่บอกเล่าขยายความให้เข้าใจถึงพื้นที่ 15 จังหวัด ใน 13 เขตสุขภาพ นั้น มีลักษณะความต่างความเหมือนเช่นไรกับ 29 จ. ที่มีการแพร่ระบาดรุนแรง  

ขณะเดียวกัน เงื่อนไขของการเปิดเรียน เทอมที่ 2 วันที่ 1 พ.ย.64 จะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด หรือ จำเป็นจะต้องจำทนอยู่กับสภาพเดิม ๆ ต่อไป

แม้ น.ส..ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ.และบรรดาผู้บริหารระดับสูงของศธ.ทั้งหลาย จะออกมายืนยันในทางเดียวกันว่า วันที่ 1 พ.ย. นี้ เปิดเทอมภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 แน่นอน ซึ่งว่าไปแล้ว น่าจะเป็นความแน่นอน เหมาะสมลงตัว สมควรที่นักเรียนควรจะได้กลับไปเรียนร.ร.ตามปกติแล้วก็ตาม

แต่หลังจากเกิดกระแสในโลกออนไลน์ มีนักเรียนและผู้ปกครองบางส่วนอีกนับกว่าล้านคน กระจายอยู่ทั่วประเทศ  ไม่ประสงค์หรือยินยอมฉีดวัคซีน เนื่องจากกกลัวจะเสียชีวิต

 

 

ตัวเลขตรงนี้สิน่าวิตกว่า ศธ.จะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไรดี  ไม่เพียงแค่เนื่องจากมีเด็กกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนก็ยังสามารถมาเรียนที่โรงเรียนได้เท่านั้น หากยังมีนักเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ที่ยังมาเรียนใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในบริเวณต่าง ๆของโรงเรียนเมื่อเปิดเทอมแล้วเช่นกัน เมื่อวางน้ำหนักพินิจสถานการณ์ภาพรวมแล้ว ถึงอย่างไรก็มิอาจวางใจได้ ตราบใดที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษายังไม่ได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วน

จึงมีคำถามว่า หาก ร.ร.เปิดเรียนในวันที่ 1 พ.ย.64 จะจัดการเรียนการสอนอย่างไร จะเปิดเรียนเด็กสามารถมาเรียนได้หรือไม่ และจะดูแลเด็กที่หรือยังไม่ได้รับวัคซีนอย่างไร

เมื่อมาดูตัวเลขครูและบุคคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศที่มีอยู่ประมาณ 7 แสนคน แม้ขณะนี้ได้รับวัคซีนไปแล้ว 78% แต่ยังเหลือครูประมาณกว่า 1.9 แสนคน ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งศธ. คาดว่า หากรัฐบาลได้รับวัคซีนครบ 8 ล้านภายในเเดือนตุลาคมนี้ น่าจะฉีดได้ครบ

แต่เมื่อมองไปที่บรรดาลูกจ้าง พนักงาน ห้างร้านเอกชน ค่ายมือถือต่าง ๆ ตลอดนักการเมือง ผู้บริหารองค์กรรัฐ ได้รับไปถึงเข็มที่ 3 แล้ว  แต่ศธ.ยังใจเย็นที่จะร้องเพลงรอ ต่อไป   

 

อย่างไรก็ตาม หลังจาก นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ.และคณะผู้บริหารฯได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการศึกษาในพื้นที่ จ.สระแก้ว ให้สัมภาษณ์ถึงเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน สถานศึกษาจะต้องให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ประเมินมาตรการของ ร.ร.ว่าอยู่ในมาตรฐานเปิดเรียนภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ (New Narmol) ได้หรือไม่ ส่วนเด็กประถมที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ก็ใช้มาตรการสาธารณสุขป้องกันโรค 

และดูเหมือนจะดูดี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ปกครองและนักเรียน โดยรมว.ศธ.จะประสานหารือกับกระทรวงสาธารณสุข อีกครั้ง เพื่อหาข้อสรุปว่า จัดชุดตรวจ ATK ตรวจคัดกรองหาเชื้อทุก 2 สัปดาห์ หน่วยงานไหนจะเป็นผู้รับผิดชอบจัดเตรียมชุดตรวจ ATK ให้ร.ร. และหน่วยงานไหนที่จะมาตรวจหาเชื้อให้กับนักเรียน (ฮา)

เมื่อย้อนกลับมาดูคำยืนยันจาก นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ที่ได้ประชุมผอ.เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ  ยืนยันว่าจะไม่เลื่อนเปิดเทอมภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 1 พ.ย. นี้ ร.ร.จะดำเนินการได้ต้องคำนึง 3 ปัจจัย

 

ภาวะการแพร่ระบาดในพื้นที่ ร.ร. นั้น รุนแรงเพียงใด ขนาดของ ร.ร. และจำนวนนักเรียน มีมากน้อยแค่ไหน จะสามารถจัดมาตรการได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ จะต้องผ่านการประเมิน และได้รับการอนุญาตจากขณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด นี่คือ ยังยึดมาตรการเดิม รับรู้ต้องปฏิบัติกันอยู่แล้ว เพียงแต่จะทำกันแบบเข้มข้นจริงจังหรือแค่โด้บยาเป็นครั้ง ๆ หรือไม่

แต่ภายใต้เงื่อนไขใหม่ ในเรื่องจะให้เปิดเรียนในวันที่ 1 พฤศจิกายน  คือ ทั้งนักเรียน – ครู และ ผู้บริหาร รร. ต้องฉีดวัคซีนให้ได้ครอบคลุม 85% เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อต่อกัน หากทำได้จริง ย่อมดีแน่นอน 

และจากความเห็นของ นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ รักษาการประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รักษาการประธาน กพฐ.) ระบุว่า

การเปิดเทอมในโรงเรียนสามารถทำได้ หากครูได้รับวัคซีนครบ 100% ในเดือนตุลาคม นี้ โดยการฉีดวัคซีนต้องคำนึงถึงครูทุกกลุ่มด้วย ไม่ใช่เฉพาะแค่ครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แต่ควรจะรวมถึงครูทุกสังกัด ก็เป็นเหตุผลเชิงรุกที่ควรรับฟัง

แต่เมื่อลองไล่เรียงเรื่องความคิดแค่จะเปิดเรียนเทอม 2 ในวันที่ 1 พ.ย. จะเห็นว่า ศธ. ตกหลุมดำทางความคิดแบบเดิม ๆ ที่ยังใช้หลงยึดติดกับอัตลักษณ์ ยุค 1.0 ในการบริหารจัดการเบ็ดเสร็จจากศูนย์กลางที่อยู่ข้างบน จึงทำให้มองไม่เห็นสภาพความจริงของปัญหาเพื่อนำไปสู่หนทางที่จะบรรเทาปัญหานั้น ๆ อย่างแท้จริง 

ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าโควิดใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็น สงขลา นราธิวาส ยะลา ปัตตานี นครศรีธรรมราช นับเป็นร้อยละ 20 ของผู้ติดเชื้อทั้งประเทศ ขณะภาพรวมทั้งประเทศถือว่าลดลง 

แต่ ศธ.จะป้องกันอย่างไร เมื่อเด็ก ๆ นักเรียน นักศึกษา ยังต้องไปเรียนหนังสือ ไปทำกิจกรรม แม้จะล็อกดาวน์ แต่คนก็ยังไปมาหาสู่กันอยู่ตามวิถีชีวิตและวัฒนธรรม  การติดเชื้อก็แพร่กระจายไปทั่วได้

จึงมีคำถามมาถึง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ.และคณะฯ ทำไมไม่ใช้วิธีการเชิงรุกทุกวิถีทาง เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของชีวิตครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง และนักเรียน ให้สังคมเข้าร่วมส่งเสียงถึงกระทรวงสาธารณสุข รัฐบาล จะได้เร่งรัดระดมวัคซีนลงไปยังพื้นที่ให้เพียงพอทุกพื้นที่กลุ่มประชากรที่ยังมีตัวเลขการติดเชื้อระบาดสูงอย่างรวดเร็วและทั่วถึงเป็นการเร่งด่วน ภายในสิ้นเดือนตุลาคม นี้ 

อย่างไรก็ตาม ฐานในการพิจารณาว่าที่ใดจะเปิดเรียนแบบ On-site หรือไม่  ควรให้เป็นเรื่องของทาง สพท. และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และกรรมการสถานศึกษาเข้าร่วมเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจการระบาดในพื้นที่ดีที่สุดว่าเป็นอย่างไร ยิ่งพื้นที่ไม่มีการระบาดแล้ว ก็ควรจะเปิดเทอม 2 ได้เร็วขึ้นได้  แต่ต้องเป็นไปตามมาตรการที่ สธ.กำหนด ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พื้นที่ควบคุม ผอ.ร.ร.ย่อมมีอำนาจพิจารณาเปิดเรียนได้

แม้ในแต่ละจังหวัดก็เช่นเดียวกัน ไม่ควรบังคับให้เปิดและปิดเทอม 2 เหมือนกันทั้งประเทศ  และไม่ควรจะใช้มาตรการเดียวกัน หากพื้นที่ใดยังมีการระบาดอยู่บ้าง อาจจะแบ่งกลุ่มมาเรียนแบบ On-site  สัปดาห์ละครั้ง โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม  ซึ่งยังดีกว่าเรียนออนไลน์แบบเต็มร้อยอย่างทุกวันนี้

 

และการเปิดเรียนในช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ย่อมมีความเป็นไปได้มากขึ้น

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)