“ศ.สมพงษ์”เตือน!ชะลอหลักสูตรสมรรถนะ ‘เหล้าเก่าในขวดใหม่-หัวมังกุฎท้ายมังกร’

“ศ.สมพงษ์ จิตระดับ” ฉายภาพหลักสูตรสมรรถนะ ‘เหล้าเก่าในขวดใหม่-หัวมังกุฎท้ายมังกร’ เตือน ศธ.เร่งประกาศใช้โดยขาดการเตรียมพร้อม 3 หมื่น ร.ร. เสี่ยงโกลาหลช่วง 3 ปีนี้ กลายเป็นหลักสูตรแกนกลางที่เละเทะไปทั่วประเทศ สูญงบฯแผ่นดินมหาศาล แต่การเรียนการสอนยังท่องเนื้อหาเช่นเดิม

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา อดีตอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com เรื่องการจัดทำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยมี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธานกรรมการที่ปรึกษา และ ดร.สิริกร มณีรินทร์ เป็นประธานกรรมการอำนวยการ ว่า

จากการติดตามและมีโอกาสร่วมประชุมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ของ ศธ.เมื่อเร็วๆ นี้ ยังคงมองได้ว่า มีสภาพแกว่งไปมาตลอด 

แต่พอจะสรุปได้ว่า เปรียบเหมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่ คือยังคงมีเนื้อหาวิชาเรียนเท่าเดิม 8 ใน 7 สาระการเรียนรู้ ดังที่คณะจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะได้ระบุไว้ ไม่ได้ลดกลุ่มสาระการเรียนรู้ลง จึงไม่ได้แตกต่างอะไรจากหลักสูตรอิงมาตรฐานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

เพียงแต่เปลี่ยนการใช้ตัวชี้วัดในหลักสูตรอิงมาตรฐานที่มีมากประมาณ 1,200 ตัวชี้วัด ลดลงมาเป็นวัดฐานสมรรถนะแทน

นอกจากนี้ หลักสูตรฐานสมรรถนะที่ ศธ.กำลังจัดทำอยู่ยังเข้าข่ายเป็นหลักสูตรหัวมังกุฎท้ายมังกร กล่าวคือ ในหลักสูตรฐานสมรรถนะมีหลักการลดเวลาเรียนลง และเน้นกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนแบบให้ลงมือปฏิบัติจริง เป็น Active Learning เลิกท่องจำเนื้อหา สวนทางกับตัวหลักสูตรฐานสมรรถนะที่มีการกำหนดให้มีเนื้อหาวิชาเรียนมาก 8 ใน 7 สาระการเรียนรู้เท่าหลักสูตรเดิมดังกล่าว

ดังนั้น แล้วครูจะมีเวลาพอสอนแบบลงมือปฏิบัติจริง ในขณะที่มีการลดเวลาเรียน ได้ทันจบเนื้อหาวิชาเรียนในหลักสูตรฐานสมรรถนะที่มีมากถึง 8 ใน 7 กลุ่มสาระการเรียนรู้หรือไม่ ซึ่งถือว่าไปสวนทางไปคนละทิศ ไม่เข้าสำรับกัน เปรียบเหมือน "หัวมังกุฎท้ายมังกร"

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อว่า ตนยังมีความเป็นห่วงว่า การขาดการเตรียมการรองรับที่ดีพอ และปัญหาการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ปฏิบัติในสถานศึกษาในการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในโรงเรียนทั่วประเทศกว่า 3 หมื่นแห่ง จะสร้างความโกลาหลวุ่นวายกลายเป็นหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เละเทะกันไปทั่วประเทศในช่วง 3 ปีนี้

เนื่องจากการทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะใน 265 โรงเรียน ใน 8 จังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ย่อมจะปรากฏผลออกมาดีเลิศ โรงเรียนเหล่านี้สามารถแปลงมาเป็นหลักสูตรสถานศึกษาที่มีฐานสมรรถนะที่แตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่ได้ 

ทั้งนี้ เพราะเป็นการทดลองภายใต้สถานการณ์ไม่ปกติ โดย ศธ.และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ระดมทรัพยากรต่างๆ เต็มสรรพกำลัง ทุ่มสนับสนุนลงไปถึงทั้ง 265 โรงเรียน ทั้งเงิน ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง สถานประกอบการ องค์กรเอกชน ฯลฯ รวมถึงภาคส่วนอื่นๆ ที่ระดมลงไปช่วย และยังมี พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 ที่ให้อำนาจยกเว้นข้อจำกัดในกฎ ระเบียบต่างๆ ให้อีกด้วย

แต่สำหรับโรงเรียนปกติในพื้นที่ทั่วไปอีกหลายหมื่นโรงเรียน โดยเฉพาะเป็นโรงเรียนขนาดกลาง และขนาดเล็ก ที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจ และยังไม่ได้รับการเตรียมความพร้อมที่จะนำหลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะไปแปลงเป็นหลักสูตรสถานศึกษาของแต่ละแห่ง ซึ่ง ศธ.คงไม่มีทรัพยากรมากพอจะไปทุ่มสนับสนุนจำนวนนับหมื่นโรงเรียนได้

และคงไม่มีนักวิชาการ ศึกษานิเทศก์เพียงพอ มหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง สถานประกอบการ ภาคเอกชน ตลอดรวมถึงภาคส่วนอื่นๆ ที่จะระดมเข้าไปช่วยโรงเรียนับหมื่นแห่งเหล่านั้น อีกทั้งยังไม่มีอำนาจข้อยกเว้นกฎ ระเบียบต่างๆ ให้เหมือนกับโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 ด้วย

แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ทั้ง น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และรัฐบาล ตลอดจน ดร.สิริกร ประธานกรรมการอำนวยการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ รู้หรือไม่ว่า ภาพที่จะเกิดขึ้นให้เห็นอันเกิดจากการเร่งรีบใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยขาดการเตรียมความพร้อมให้กับโรงเรียนทั่วไปนับหมื่นๆ แห่งของ ศธ.และ สพฐ. คือ

โรงเรียนขนาดกลาง และขนาดเล็ก และอาจรวมถึงโรงเรียนขนาดใหญ่ รวมจำนวนหลายหมื่นโรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งผู้บริหารโรงเรียน และครูไม่มีความรู้ความเข้าใจและไม่ได้รับการเตรียมความพร้อมใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ จะของบประมาณไปจัดซื้อคู่มือครูสำเร็จรูป แผนการสอนสำเร็จรูป คอร์สอบรม หนังสือเรียนสำเร็จรูป แบบฝึกหัดสำเร็จรูป ตลอดจนสื่อต่างๆ สำเร็จรูปที่เกี่ยวกับหลักสูตรสมรรถนะจากภาคธุรกิจเอกชน มาให้กับครูได้ใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอน 

ซึ่งทราบมาว่า มีภาคเอกชนเริ่มเข้ามาสอดแทรกเพื่อดำเนินการหาประโยชน์กันแล้วในรูปแบบต่างๆ ดังกล่าว

ประกอบกับ ทั้ง น.ส.ตรีนุช รัฐบาล และ ดร.สิริกร อาจจะได้เห็นวัฒนธรรมของครูจำนวนไม่น้อยที่คุ้นเคยกับการสอนเนื้อหา โดยที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในเป้าหมายของหลักสูตรฐานสมรรถนะ และไม่มีความพร้อมสอนตามหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่เน้นให้นักเรียนลงมือปฏิบัติจริง เป็น Active Learning ก็อาจจะยังคงจัดการเรียนการสอนเน้นท่องเนื้อหาเหมือนเดิม

สุดท้ายในภาพรวมคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของประเทศ ก็อาจไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรไปในทางที่ดีขึ้นให้เห็นดังที่คาดหวังกันไว้ ในขณะที่ ศธ.ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินไปจำนวนมหาศาลอย่างสูญเปล่าแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาล และ ศธ.ได้เตรียมการปฏิรูประบบจัดสรรเงินรายหัวนักเรียน และจัดเตรียมงบประมาณจำนวนมหาศาลไว้รองรับการสอนหลักสูตรฐานสมรรถนะในโรงเรียน 3 หมื่นกว่าแห่งทั่วประเทศ แล้วหรือยัง

เพราะองค์ประกอบของหลักสูตรสมรรถนะ ไม่ได้มีเฉพาะหนังสือเรียนเป็นหลักเท่านั้น แต่ยังมีสื่อ อุปกรณ์การเรียน ครุภัณฑ์ ห้องปฏิบัติการ ห้องแล็บ ห้องทดลอง และอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้น การจะจัดสรรงบประมาณลงไปแบบรายหัวนักเรียนเท่าเดิม เหมือนเดิม คงไม่สอดรับกับการเรียนการสอนในหลักสูตรฐานสมรรถนะ

“จากการติดตามการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะของ ศธ.คณะนี้ ผมมองว่ามีสภาพแกว่งไปมาตลอด เพราะครูอาจารย์ที่เชิญมาร่วมทำหลักสูตรต่างก็กลัววิชาตัวเองจะหายไป จึงมีการเติมวิชานั้นวิชานี้เข้ามาเป็นระยะๆ ผมจึงอยากเสนอให้รับฟังเสียงประชาพิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา อย่ามีคำตอบไว้ก่อนแล้ว อย่างเช่นข้อเสนอที่ว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะที่จัดทำยังไม่สอดรับกับการเรียนรู้ความเป็นประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ในทุกวันนี้ เป็นต้น” ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ กล่าว

อนึ่ง ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานด้วยว่า ดร.สิริกร ประธานกรรมการอำนวยการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ ได้กล่าวในงานเสวนาเพื่อการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ครั้งที่ 6 และเปิดโครงการนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 (ประถมต้น) ภาคเรียนที่ 2/2564 ใน 265 โรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 8 จังหวัด มี น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธานในงาน เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 ที่ ศธ. ความตอนหนึ่งว่า

“ในกรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะ แนวทางการจัดการเรียนรู้จะมีสาระเนื้อหาของหลักสูตรไล่ตั้งแต่ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ไปจนกระทั่งถึงสาระหนึ่งซึ่งคณะกรรมการเราได้ลงมติกันเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เพื่อให้เพื่อนครูตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องสบายใจ

คือเดิมเราใช้ชื่อว่าเป็นวิชาบูรณาการประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และศีลธรรม เราก็ตัดสินใจปรับไปเป็นชื่อสังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และศีลธรรม เพื่อให้ครูที่สอนสายสังคมสบายใจว่า วิชาของฉันยังอยู่ ฉันไม่ตกงาน ทางฝ่ายคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ที่ผลิตครูก็จะสบายใจว่า หลักสูตรฐานสมรรถนะนี้ไม่ได้ไปรื้อโครงสร้าง ไม่ได้ไปกระทบเพื่อนครูเลย

และพอถึงช่วงชั้นที่ 2 คือประถมศึกษาปีที่ 4-6 ก็จะมีวิชาการจัดการในครัวเรือนและการประกอบการ จะเกิดขึ้นมาในช่วงชั้นที่ 2 เช่น เป็นเรื่องของสิ่งที่เกี่ยวกับงานไม้ งานประดิษฐ์ แปลงเกษตร ซึ่งหลายโรงเรียนก็จะมีฟาร์มเลี้ยงเป็ด ไก่ เพื่อที่จะฝึกอาชีพไปโดยปริยาย ดังนั้น ดิฉันขอเรียนว่า จริงๆ แล้ว สาระทั้ง 8 นี้ยังอยู่ แต่ว่าปรับให้ทันสมัย ปรับให้เป็นที่สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไป

เพราะฉะนั้น วันนี้ก็ถือโอกาสชี้แจงให้เพื่อนครู บุคลากรทางการศึกษาได้สบายใจว่า หลักสูตรฐานสมรรถนะนี้ไม่ได้ไปกระทบกับการงานของท่าน สาระทั้ง 8 ยังอยู่ครบถ้วน เพียงแต่ว่าในช่วงชั้นต้นนั้นจะต้องสอนในลักษณะบูรณาการ ทั้งนี้ เพื่อให้ชั่วโมงเรียนของเด็กลดลง จากที่เคยเรียน 1,200 ชั่วโมง ในช่วงชั้นต้นนี้ ก็จะเหลือ 800 ชั่วโมง พอช่วงชั้นที่ 2 ก็จะเพิ่มขึ้นมา ซึ่งเราอาจจะเคาะกันว่า อาจจะประมาณ 900 ชั่วโมง อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งถือเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญในหลักสูตรฐานสมรรถนะ”

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)