โรงเรียน สพฐ.หลาย จว. "ถอดใจ-โดนเบรก" เปิดเทอม 2 แบบ On Site 1 พ.ย.นี้

 

โรงเรียน สพฐ.หลายจังหวัด "ถอดใจ-โดนเบรก" เปิดเทอม 2 แบบ On-Site 1 พ.ย.นี้ ขณะที่มีบาง ร.ร.ตระเตรียมปรับเป็น "ศูนย์พักคอย" รองรับผู้ป่วยโควิด-19

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานความคืบหน้าการเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 ของสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในวันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นี้ ว่า จากที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. นำทีมแถลงข่าว “ความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ของสถานศึกษาสังกัด ศธ. ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564” โดยระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้สำรวจการเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 ของโรงเรียนในสังกัดทั่วประเทศ พบว่าจะขอเปิดเทอม 2 แบบ On Site 100% หรือ On Site ส่วนใหญ่ รวมจำนวนมากกว่า 10,000 โรงเรียน นั้น

ปรากฏว่า ในวันถัดๆ มา มีหลายจังหวัดประกาศยังไม่อนุญาตให้สถานศึกษาต่างๆ ในจังหวัดเปิดเรียนแบบ On Site ในวันเปิดภาคเรียนที่ 2 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นี้ เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังน่าห่วง

แม้ว่าโรงเรียนที่พร้อมขอเปิด On Site จะได้ยื่นเรื่องขออนุุญาตโดยแสดงหลักฐานการดำเนินการตามมาตรการป้องกันต่างๆ เพื่อขอความเห็นชอบผ่านนายอำเภอ โรงพยาบาลอำเภอ/รพ.สต.แล้วก็ตาม อาทิ ดำเนินการตามมาตรการ TSC+ ที่ลงนามโดยผู้อำนวยการโรงเรียน, มีแผนกิจกรรม  แผนเผชิญเหตุ และมีมาตรการ Safety School Sandbox เป็นต้น

เช่นที่ จ.ตรัง นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 หลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตรัง ครั้งที่ 35/2564 ว่า จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดตรังวันนี้ พบผู้ป่วยรายใหม่ 253 ราย ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ ทั้งในตลาดสด แพปลา วงพนัน งานประเพณี ตลอดจนคลัสเตอร์เรือนจำ ดังนั้น การเปิดโรงเรียนสอนแบบ on site ตามกำหนดเปิดเทอม 2 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นี้ ให้เลื่อนออกไปก่อน ให้เรียนแบบออนไลน์จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 ในจังหวัดจะดีขึ้น และครูและนักเรียนต้องได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบ 85%

ที่ จ.เชียงใหม่ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ ได้โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 ใจความสำคัญว่า “คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ลงนามออกประกาศให้โรงเรียน สถาบันการศึกษาทุกประเภทในพื้นที่ที่พบการระบาดโควิด-19 ชะลอการเปิดเรียนแบบ On site ห้วงวันที่ 1-14 พฤศจิกายน 2564 และให้พิจารณาจัดการเรียนการสอนในรูปแบบอื่นแทน”

เนื่องจากยังคงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นกลุ่มก้อน อย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้พิจารณาแล้วเห็นว่า โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภท/ทุกระดับ/ทุกสังกัด ที่ได้รับอนุญาตให้จัดการเรียนการสอนจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ในเขตพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาดังกล่าว พิจารณาชะลอการใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา เพื่อจัดการเรียนการสอนในรูปแบบปกติ (On site)

โดยให้พิจารณาจัดการเรียนการสอนในรูปแบบอื่นแทน ตามมาตรการหรือแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ในห้วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1-14 พฤศจิกายน 2564

ที่ จ.นครราชสีมา มีรายงานข่าวเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 ที่ศูนย์บัญชาเหตุการณ์ตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 จ.นครราชสีมา แพทย์หญิงอารีย์ เชื้อเดช รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า มีระเบียบวาระประชุมเตรียมพร้อมการเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 สถานศึกษาในพื้นที่ 32 อำเภอ จ.นครราชสีมา รูปแบบ “On site” กำหนดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นี้

"แต่ปรากฏว่า มีสถานศึกษาหลายแห่งได้แจ้งขอเลื่อนการเปิดเรียน On site อาทิเช่น นายประยงค์ ประทุมวัน ผู้อำนวยการโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ระบุว่าสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่น่าไว้วางใจ และ จ.นครราชสีมายังอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด"

ขณะเดียวกัน ปรากฏข่าวในบางจังหวัดมีการเตรียมโรงเรียนปรับเป็น “ศูนย์พักคอย” รองรับผู้ป่วยโควิด-19 เช่น เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 ที่โรงเรียนชุมชนวัดถัมภาวาส (เสาร์อุทิศ) ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี นางลภาภัทร พลสิทธิ์, นายสวง กองจักร, ว่าที่ร้อยตรีสุขสันต์ จวงพลงาม และ นางจิราภรณ์ เรืองรักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 3 และนางชวนพิศ แก้วพรหมราช ผู้อำนวยการกลุ่มอำนวยการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้บริหารและคณะครูโรงเรียนชุมชนวัดถัมภาวาส (เสาร์อุทิศ)

ซึ่งกำลังเตรียมพื้นที่ของโรงเรียน เพื่อเปิดเป็นสถานที่ศูนย์พักคอยชุมชน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี รองรับผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่มีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ใน ต.ปะเสยะวอ เข้ามาดูแลเบื้องต้น ก่อนส่งตัวไปรักษาต่อยังโรงพยาบาล ซึ่งสามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้ 50 เตียง โดยมีนางวานิชฌา อายุ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดถัมภาวาสฯ และคณะครูให้การต้อนรับ และพาตรวจเยี่ยมสถานที่ที่จะเป็นพื้นที่กักตัว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)