"ร.ร.อบจ.เชียงราย" สอนมวย ศธ. เลิกคิดให้เด็กใส่เสื้อโหล

เสวนากับบรรณาธิการ

ร.ร.อบจ.เชียงราย สอนมวย ศธ.

เลิกคิดให้เด็กใส่เสื้อโหล  ระวัง...อปท.อาจหวนทำการแทน 

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ : บรรณาธิการ

ปัจจุบันการจัดการศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระทรวงมหาดไทย มีทั้งที่จัดเองเป็นส่วนใหญ่ และโรงเรียนที่ถ่ายโอนมาจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในขณะเดียวกันโรงเรียนที่จัดตั้งใหม่สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ต่างมีการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชนิดที่สามารถตอบโจทย์การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศไทย แทบจะแซงหน้า ร.ร.ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการกันแล้ว 

...หากผู้บริหารสถานศึกษาทุกโรงเรียน ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาทั้งประถม-มัธยมฯ ในประเทศนี้ไม่ช่วยกันคิด ช่วยกันสรรค์สร้าง ช่วยกันดึงสมรรถนะร่วมกันผลักดัน มากกว่าแสวงหาตำแหน่งที่ดีกว่า สูงกว่า และ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะ ยังไม่เปลี่ยนวิสัยทัศน์และกล้าที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกฝ่ายในลักษณะกัลยาณมิตร  มากกว่ามัวคิดแต่นโยบายลงสู่การปฏิบัติ และขยันสร้างกฎเกณฑ์มุ่งสู่ความก้าวหน้าที่ยุ่งยากมากไปด้วยเงื่อนไขในการประเมิน จนทำให้ครูต้องทิ้งห้องเรียน ย่อมยากที่จะเห็นคุณภาพในตัวเองของเด็ก ๆ ในโรงเรียนสังกัด ศธ.ในอนาคต...

นั่นอาจเป็นเพราะระบบการบริหารงานของ อปท.ไม่ว่าจะเป็น อบจ. เทศบาล และ อบต. ต่างก็มีสายงานการบริหารที่สั้น ชัดเจน ไม่ฟุ้ง ปัจจัยความพร้อมต่างๆ มาสนับสนุนอย่างพร้อมเพรียง และตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนและท้องถิ่นได้อย่างสมบูรณ์ มีงบประมาณที่มาสนับสนุนอย่างเพียงพอ ตามหลักการการจายอำนาจ

และนับตั้งแต่ ร.ร.ในสังกัด ศธ.ได้ถ่ายโอนไปสังกัด อปท.ร่วม 10 ปีที่ผ่านมา แต่ละ ร.ร.ก็ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่น้อยหน้าไปกว่าโรงเรียนในสังกัดหน่วยงานอื่นใด โดยเฉพาะปัจจุบันคุณภาพของโรงเรียนที่สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ.บางแห่ง มีคุณภาพที่ก้าวกระโดดกว่าด้วยซ้ำ

 

ดังจะเห็นได้จากผลงานการจัดการศึกษาอย่างก้าวกระโดดของ โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทางเหนือสุดของสยาม เปิดสอนระดับปฐมวัยจนถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 มี นายศราวุธ สุตะวงค์ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งขณะนี้กำลังรับสมัครนักเรียนใหม่ ม.1, ม.4 ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน -30 ธันวาคม 2564 เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตกฤษ เวลา 08.30-15.30 น.

❝ เนื่องจากมีความเป็นผู้นำทางการศึกษาที่มีกระบวนทัศน์ ทั้งความรู้ ความสามารถใช้ปัญญาชี้นำที่พึงปรารถนา ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงบริหารงานให้โครงการต่าง ๆ ของสถานศึกษาให้ลุล่วงไปตามวัตถุประสงค์เท่านั้น ❞

โรงเรียน อบจ.เชียงราย จึงเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ตั้งคำถามถึงปัญหาพื้นฐานเดิม ๆ จะเป็นอย่างไรหากเด็กหลังเรียนจบชั้น ม.3 แล้ว ยังมีการเลือกสายการเรียนแบบเดิม ๆ หรือคิดเพียงแค่ให้เรียนต่อ ม.ปลาย สายวิทย์-คณิต สายวิทย์-ศิลป์ สายศิลป์-คำนวณ หรือสายศิลป์-สังคม หรือไป สายอาชีวะ

 

ทำไมสถานศึกษา จึงไม่สร้างทางเลือกให้มากขึ้น เพื่อที่จะทำให้นักเรียนได้เห็นเส้นทางประกอบอาชีพในอนาคตของตัวเอง โรงเรียนไม่ได้มีทางเลือกอื่นให้เลยหรือ รึมองแค่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จะเข้ามาโอบอุ้มเพื่อไม่ให้หลุดพ้นเป็นเด็กตกหล่นเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่ความยั่งยืน เป็นเพียงแค่อำพรางโอกาสเท่านั้น

แต่การที่ โรงเรียน อบจ.เชียงราย ได้สร้างหลักสูตรสถานศึกษา เพื่อทำให้นักเรียนเด็กประถม-มัธยม สามารถเลือกโปรแกรมเรียนได้ถึง 19 หลักสูตรโปรแกรมวิชาตามความถนัด เท่ากับเป็นการให้โอกาสเพื่อนำไปสู่ชีวิตที่ยั่งยืนและมีภาพความสุขอย่างแท้จริงเในขณะที่เรียน ด้วยการเปลี่ยนการเรียนรู้ภาพเก่า “ไม่สายวิทย์ ก็สายศิลป์” สู่การเรียนตามความสนใจ เชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพของตัวเอง ไม่ต้องสอบแข่งขัน-จัดลำดับความสามารถ-เข้าสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ  หมดยุคการศึกษาเสื้อโหลของศธ.เสียที

 

ซึ่งในปีการศึกษา 2565 โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เปิดรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนใน 19 โปรแกรมวิชา แต่มีให้เลือกทั้ง ห้องเรียนเตรียมความพร้อมสู่สี่เหล่าทัพ, ห้องเรียนเตรียมความพร้อมสู่พานิชย์นาวี, ห้องเรียนความเป็นเลิศด้านอุตสาหกรรมบริการและการบิน, โปรแกรมห้องเรียนพิเศษเตรียมแพทย์, โปรแกรมวิศวกรรมศาสตร์, โปรแกรมห้องเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ 

 

 

ห้องเรียนเตรียมครุทายาท, ห้องเรียนวิศวกรรมซอฟต์แวร์, ห้องเรียนความเป็นเลิศทางด้านภาษาอังกฤษ, ห้องเรียนความเป็นเลิศทางด้านภาษาจีน, ห้องเรียนความเป็นเลิศทางด้านภาษาญี่ปุ่น เพื่อธุรกิจ, ห้องเรียนสร้างศิลปะสู่ศิลปิน เสริมทักษะดนตรีและการแสดง, ห้องเรียนความเป็นเลิศด้านธุรกิจค้าปลีก และห้องเรียนผู้นำแห่งการพัฒนา

ห้องเรียนวิทยาศาสตร์การกีฬา, โปรแกรมกีฬาสู่เส้นทางนักกีฬาอาชีพ, ห้องเรียนโปรแกรมทั่วไป (มัธยมศึกษาตอนต้น), ห้องเรียนการจัดการครัวและศิลปะการประกอบอาหาร, ห้องเรียนนวัตกรรมการจัดการเกษตรสมัยใหม่

 

พร้อมมีข้อความประชาสัมพันธ์เชิญชวน อาทิ  #  อยากเป็นกัปตันเรือ/พนักงานบนเรือพาณิชย์,เรือท่องเที่ยว เรือสำราญ  เรียนห้องนี้ Pre – MMP # 1 ใน 19 โปรแกรมหลักสูตร  # สาขาธุรกิจค้าปลีก (RMP) เรียนและมีรายได้ระหว่างเรียน ได้รับ 2 วุฒิ ม. 6 และปวช. ส่งเรียนถึง ป.เอก (ตามศักยภาพแต่ละคน) จบ ม.6 มีเงินในบัญชีหลักแสน++ # มาเติมเต็มความรู้ และพัฒนาศักยภาพที่นักเรียนถนัด ด้านดนตรี ศิลปะและการแสดง ได้ปฏิบัติจริง ในโปรแกรมห้องเรียน Performing Art Program: เรียนนาฏศิลป์ไทย นาฏศิลป์พื้นบ้าน นาฏศิลป์สากล : นำความสามารถสร้างรายได้ระหว่างเรียน # อยากให้ลูกฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษ คล่องปร๋อ…เรียนหลักสูตร EP ตั้งแต่ ป.1

 

 

 

หากผู้บริหารสถานศึกษาทุกโรงเรียน ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาทั้งประถม-มัธยมฯ ในประเทศ นี้ช่วยกันคิด ช่วยกันสานสร้าง ช่วยกันดึงสมรรถนะร่วมกันผลักดัน มากกว่าแสวงหาตำแหน่งที่ดีกว่า สูงกว่า และ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและคณะฯ คงต้องเปลี่ยนวิสัยทัศน์และกล้าที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกฝ่ายในลักษณะกัลยา ณ มิตร  มากกว่ามัวคิดแต่นโยบายลงสู่การปฏิบัติ ขยันสร้างกฎเกณฑ์ มุ่งสู่ความก้าวหน้าที่ยุ่งยากมากไปด้วยเงื่อนไขในการประเมิน ทำให้ครูต้องทิ้งห้องเรียน ย่อมยากที่จะเห็นคุณภาพในตัวเองของเด็ก ๆ ในอนาคต

ย้อนไปในอดีต นายศราวุธ สุตะวงค์ ผอ.ร.ร.องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เคยทำงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้เห็นจุดแข็ง จุดอ่อน ของการจัดการศึกษาในระบบ หลังจากปี 2542 มี พ.ร.บ. กระจายอำนาจ และ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมจัดการศึกษามากขึ้น

จึงได้มาออกแบบโรงเรียนที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เพื่อปิดช่องว่างการศึกษา โดยให้ความสำคัญกับหลักสูตรการเรียนรู้ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นขนาดหรือที่ตั้งของโรงเรียน ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส คุณภาพ และความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา ทำให้การจัดการศึกษาแต่ละพื้นที่มีปัญหาหรืออุปสรรคแตกต่างกัน  

 

“เราจึงสร้างลู่วิ่งหลักสูตร วิธีการเรียนการสอน ให้เหมาะกับเด็กแต่ละกลุ่มที่ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย เช่น ห้องเรียนสู่เส้นทางนักกีฬาอาชีพ เด็กอยากเป็นทีมชาติก็จะให้เขาเรียน 8.00 น. ถึง 16.00 น. แล้วไปซ้อมกีฬา เป็นไปไม่ได้ที่เด็กกลุ่มนี้ จะประสบความสำเร็จถ้าไม่มีเวลาให้เขา ส่วนวิชาที่ไม่ได้สำคัญต่อเขาเราตัดออกหรือมีให้น้อยลงไป

 

...จึงทำให้เรามีนักกีฬาฟุตบอลทีมชาติจากโรงเรียนเรา เช่น เอกนิษฐ์ ปัญญา โชติพิพัฒน์ พุ่มแก้ว ทักษ์ดนัย ใจหาญ และอีกหลาย ๆ คนที่เราส่งให้สโมสรอาชีพต่าง ๆ ทั่วประเทศ เกิดจากห้องนี้”

สอดรับกับความคิด เมื่อโลกปรับ สถานการณ์เปลี่ยน การศึกษาต้องเปลี่ยน คือ โรงเรียนต้องปรับหลักสูตร การเรียนการสอน และการวัดประเมิน ในอดีตผู้ปกครองมักอยากให้ลูกเป็นเจ้าคนนายคน อยากให้เรียนเก่ง โรงเรียนเองก็รวมเด็กที่มีความสนใจไม่เหมือนกันนั่งเรียนห้องเดียวกัน แล้วจัดลำดับ Ranking ว่า ใครได้ที่ 1 ของห้อง ซึ่งตนมองว่าการจัดการศึกษาแบบนี้ ทำให้โรงเรียนสนใจเด็กกลุ่มน้อยแล้วละทิ้งเด็กกลุ่มใหญ่

 

...พอเรามาออกแบบโรงเรียนเอง สร้างหลักสูตรเองจริง ๆ ก็ยึดหลักสูตรแกนกลาง เพียงแต่เอาเด็กที่มีความชอบเหมือนกันมาอยู่ห้องเดียวกัน เก่งกีฬาก็อยู่ห้องกีฬา เก่งภาษาก็อยู่ห้องภาษา ส่วนที่ยังหาตัวเองไม่เจอก็อยู่ห้องผู้นำแห่งการพัฒนา...

 

...สัปดาห์ที่แล้วมีเด็ก ม.5 มาปรึกษาผม เราเปิดบริษัทให้เขาตอนอยู่ ม.4 ทำออแกไนซ์รับจ้างจัดงานทั้งในและต่างจังหวัด พวกเขาบอกว่าปีที่ผ่านมา เสียภาษีให้รัฐถึง 3 ล้านบาท เพราะมีรายได้จากธุรกิจ ถ้าเด็กกลุ่มนี้ไปอยู่โรงเรียนอื่น เขาจะกลายเป็นเด็กหลังห้อง แต่อยู่โรงเรียนนี้ เขาเป็นสตาร์ทอัพตั้งแต่ ม.4 ” นายศราวุธ สุตะวงค์ ผอ.โรงเรียน อบจ.เชียงราย สะท้อนถึงความรู้สึกเจือด้วยความภาคภูมิใจ

 

เล่าต่อว่า โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ไม่มีการสอบแข่งขันจัดลำดับความสามารถเด็กข้ามห้อง นี่นับเป็นความท้าทายที่สุดในช่วงก่อตั้งโรงเรียนเมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา คือ การเปลี่ยนวิธีคิดต่อการศึกษาของผู้ปกครอง ผู้เรียน และวิธีการทำงานของครู และขณะนี้มีความท้าทายใหม่ คือ อยากชวนโรงเรียนทั่วประเทศ เปลี่ยนวิธีคิดต่อการจัดการศึกษาที่ยึดผู้เรียนเป็นตัวตั้ง

 

“...เราเชื่อว่าเด็กหนึ่งคนที่มาเรียนกับเรา ถ้าล้มเหลวก็คือล้มเหลวจากการจัดการศึกษาของเรา เพราะฉะนั้นเมื่อเราบอกว่าเราจะยึดเด็กเป็นตัวตั้ง ก็ต้องมีหลักสูตร วิธีการเรียน วิธีการสอน แบบวัดไซต์เสื้อให้เขาสวมใส่เพื่อที่จะได้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่ให้เขาใส่เสื้อโหล เด็กแต่ละคนมีความเก่งไม่เหมือนกัน ดังนั้นโรงเรียนก็ต้องมีวิธีจัดการเรียนการสอนแตกต่างกัน...”

 

ศธ.ยังไม่สายเกิน ต่อการได้หันมาทบทวนการเดินสายมอบนโยบาย ผอ.เขตพื้นที่-สถานศึกษา จัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เชิงเดี่ยว ต่อการขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณภาพในพื้นที่ เพื่ออำพรางความล้มเหลวการศึกษายุคเสื้อโหล และอยากชวนโรงเรียนทั่วประเทศ เปลี่ยนวิธีคิดต่อการจัดการศึกษาที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ

 

หากศธ.ไม่เปลี่ยนและไม่ตระหนัก เชื่อว่า คงจะมีสักวันที่อาจจะเกิดจุดพลิกผัน มีเหตุให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) กระทรวงมหาดไทย หวนเข้าไปดูแลจัดการศึกษาแทนกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในบางส่วน ดังอดีตที่ผ่านมา

 

ตัวอย่างผลงานเป็นที่ประจักษ์ อาทิ กฤษนที แก้วรากมุก นักเรียนโปรแกรม E-Sport ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมเก็บตัวฝึกซ้อมทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมแข่งขันฟุตบอล AFC U-20 Asian Cup Qualifier 2023 # นางสาวปนัดดา ปัญญาโกญ นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 โปรแกรม PAP วิชาเอกทัศนศิลป์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ รับเงินรางวัล 5,000 บาท ในการแข่งขันวาดภาพ ในหัวข้อ "ชุมชนฝั่งหมิ่นในจิตนาการ" จัดโดยขัวศิลปะ ณ ข่วงหลวงวัดฝั่งหมิ่น วันที่ 5 ธันวาคม 2564  # นายอภิสร วันเจียม นักเรียนห้อง 4/1 เด็กชายจิรภัทร ขุระสะ นักเรียนห้อง 3/1 นายกิติธัช พรมวิภา นักเรียนห้อง 3/1 นายภคิน ณ หนองตูม นักเรียนห้อง 3/1 โปรแกรม E-SPORT ผ่านการคัดเลือกเป็น 4 ใน 6 จาก 243 คน ในโครงการ “KTAXA Know You Can Football Youth(U15) Academy” SS2 สนามโรงเรียน อบจ.เชียงราย วันที่ 4 ธันวาคม 2564 ได้รับทุนการศึกษา 5000 บาท พร้อมกับผลิตภัณฑ์กีฬามูลค่า 5000 บาท และ เป็นตัวแทนเข้าร่วมกิจกรรมของ KTAXA KNOW YOU CAN FOOTBALL YOUTH ACADEMY ณ กรุงเทพมหานคร  # น.ส.รัตติกา โสลา นักเรียนชั้น ม.5/12 โปรแกรม Pre Cadet เป็นตัวแทนเยาวชนทีมชาติไทย เข้าร่วมเข่งขันกีฬามวยไทยสมัครเล่นชิงแชมป์โลก รุ่นเยาวชนอายุ  16 – 17 ปี ณ อาคารนิมิบุตร  สนามกีฬาแห่งชาติ กทม. ชนะคะแนนนักชกจากประเทศอิสราเอล

# เป็นตัวแทนนักเรียน โรงเรียน องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 เหรียญทอง” จากการประกวดการแสดงทางวิทยาศาสตร์ (Science show) แบบคลิปวิดิทัศน์ (Video Clip) โครงการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติประจำปี 2564 ณ มหาวิทยาลัยพะเยา และ ได้รับการคัดเลือกคลิปวีดิทัศน์ (Video Clip) เพื่อนำไปถ่ายทอดทาง Facebook Live ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ส่วนภูมิภาค ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา # ได้รับรางวัล รองชนะเลิศอันดับ 1 (ไม่มีชนะเลิศ) ของ รมว.ศธ. รับเงินรางวัล 10,000 บาท จากการแข่งนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ ระดับประเทศ สื่อสร้างสรรค์ปั้นอนาคตคนไทย ๔.๐” จัดโดย สภาการศึกษา 

ขอบคุณภาพ : โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)