'ฉันฝากเด็กชาวเขาเหล่านี้ด้วย ตัวฉันอยู่ไกล ครูดูแลด้วยนะ'

เสวนากับบรรณาธิการ : เนื่องในวันครูแห่งชาติ ครั้งที่ 66 พ.ศ.2565

 

'ฉันฝากเด็กชาวเขาเหล่านี้ด้วย

ตัวฉันอยู่ไกล ครูดูแลด้วยนะ'

 

...พระสุรเสียงของพระองค์ที่รับสั่ง ทุกคนที่เฝ้ารับเสด็จอยู่รอบๆ ได้ยินกันทั่ว แต่ครูเรียมเหมือนกับเป็นเสียงที่ลอยมากับสายลมที่มากไปด้วยความพระเมตตา ไม่ทรงมองผ่านเลยกับชีวิตครูตัวเล็กคนหนึ่งที่ทำงานสอนอยู่ไกลโพ้นดงดอย เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่จริง ๆ  ไม่ใช่ภาระ แต่เป็นหน้าที่ ที่ครูเรียมยินดีทำ...

 

เนื่องใน ‘วันครูแห่งชาติ’ ครั้งที่ 66 พ.ศ. 2565 ❝ พลังครูยุคใหม่ สร้างคุณภาพคนไทยสู่สากล  เว็บไซต์สำนักข่าวการศึกษา edunewssiam ขอเทิดทูนบูชาพระคุณครู ด้วยการนำเรื่องราวชีวิต ของ ครูเรียม สิงห์ทร คุณครูที่เลือกมาเป็น ครูดอย ทิ้งความสะดวกสบายในเมือง บุกเบิกโรงเรียนที่อยู่บนดอยสูง จากอาคารเรียนหลังเก่า ๆ ไม่มีนักเรียน ไม่มีครู แต่คุณครูท่านนี้ อยากให้เด็กชาวเขาได้มีการศึกษา มีวิชาความรู้ติดตัวไป เพื่อจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สิ่งใดมาเป็นแรงบันดาลใจให้เธอได้ มีชีวิตเพื่อศิษย์

 

..คนที่จะขึ้นมาสอนหนังสือสถานที่ใดก็แล้วแต่ ต้องมาด้วยใจ คนเป็นครูต้องมีหัวใจของความเป็นครู เมื่อมีหัวใจของความเป็นครูแล้ว ก็จะต้องมองปัญหาหรืออุปสรรคทุกอย่างให้เหลือน้อยที่สุด...

 

เสียงของครูเรียม สิงห์ทร คุณครูโรงเรียนบ้านขอบด้ง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ยังคงก้องอยู่ในใจเรา ทุกครั้งที่นึกถึงวันครู

 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2535 ก่อนที่จะมาเป็นครูบนดอยว่า โดยพื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯ ได้มีโอกาสไปเที่ยวที่ดอยอ่างขาง แล้วเกิดความประทับใจ จึงเขียนจดหมายอาสาสมัครมาเป็นครู ตอนแรกไม่คิดว่าจะถูกส่งไปอยู่กับชาวเขาเผ่ามูเซอ ในวันที่ไปถึงนั้นได้เดินเท้าจากดอยอ่างขางไปบ้านขอบด้งในระยะทาง 4 กิโลเมตร เพราะว่าเป็นวันที่ฝนตกมาก รถไม่สามารถที่จะขึ้นไปส่งได้ พอไปถึงแล้วเห็นโรงเรียน ซึ่งไม่เหมือนกับเป็นโรงเรียน ไม่มีนักเรียน มีเพียงอาคารหนึ่งหลังเก่าๆ และที่สำคัญมีดงฝิ่นเยอะมาก

แต่เมื่อตัดสินใจที่จะมาแล้วก็เลือกที่จะอยู่ต่อ ไม่รู้ภาษามูเซอและภาษาเหนือ ในความรู้สึกตอนนั้นมีความตื่นเต้นที่อยากจะสอนหนังสือเด็ก จนผ่านมาสามอาทิตย์ก็ไม่มีวี่แววของเด็กนักเรียนที่จะมาเรียนหนังสือเลย จึงท้ออยากกลับกรุงเทพฯ เก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋า คิดว่าไม่อยู่แล้วม่อนปิ่น บ้านขอบด้ง

แต่ก่อนที่จะตัดสินใจกลับบ้าน ได้เข้าไปในห้องเรียนเพื่อหากำลังใจสุดท้ายที่จะยึดให้ตัวเองได้อยู่กับโรงเรียน

 

เวลานั้นฝนตกหนักมาก ในห้องมีแต่ละอองฝนที่ปลิวเข้ามาในห้องเปียกไปหมด เย็นเงียบเหงาและรู้สึกเศร้า สิ้นหวัง แล้วก็ไม่มีที่พึ่ง มองไปรอบห้องหาสิ่งยึดเหนี่ยวใจเพื่อให้เราได้อยู่ที่นี่ต่อ

 

 

 

จำได้ไม่ลืมว่า ตัวเองมองไปที่อยู่เหนือกระดานดำ เห็นพระบรมฉายาลักษณ์ ที่เสด็จพระราชดำเนินออกเยี่ยมชาวเขา แม้พระบรมฉายาลักษณ์ในกรอบเก่า ๆ มีกล้องถ่ายรูป มีแผนที่ใบใหญ่ที่ยับยู่ยี่ติดแนบพระวรกาย แต่ยิ่งเพ่งพินิจแล้วยิ่งมีความรู้สึกว่าสายพระเนตรที่มองไปยังประชาชนที่มาเฝ้านั้น ดูจริงจัง อบอุ่น ให้กำลังใจ แบบให้ลุกขึ้นสู้ รู้สึกได้เลยว่า พระองค์ท่านเป็นแรงบันดาลใจ

 

น้ำตามันพรั่งพรูออกมาอย่างไม่รู้ว่าจะบอกอย่างไรดี พระองค์ควรจะได้ประทับอยู่ในพระราชวังก็ได้ ทำไมพระองค์ถึงต้องทรงตรากตรำพระวรกายออกไปหาประชาชน ถึงขนาดนี้

 

...จึงฮึดขึ้นมา หยุดร้องไห้เถอะ มีสติ แล้วเราล่ะ ยังไม่ทันได้ทำงานอะไรเลยด้วยซ้ำ ก็มาท้อถอดใจเสียแล้ว และคิดว่า นักเรียนอยู่ที่ไหน ครูเรียมก็จะไปที่นั่น...  ครูเรียม เล่าถึงความรู้สึกครั้งนั้นด้วยความสุข

 

 

 

ครูเรียมเล่าต่อว่า ในตอนนั้น ชาวบ้านเห็นว่าการเรียนหนังสือยังไม่สำคัญ เด็กไม่รู้จักโรงเรียน ไม่รู้ว่าโรงเรียนมีความสำคัญอย่างไร จึงคิดว่าแล้วจะทำอย่างไรให้เด็กๆ ในหมู่บ้านมาเรียนหนังสือกับเรา ครูเรียมจึงต้องเข้าไปในหมู่บ้าน เข้าไปทำความรู้จัก และสร้างความคุ้นเคยกับชาวบ้าน ชวนลูกหลานมาเรียนหนังสือ ด้วยการใช้วิธีในลักษณะเรียนปนเล่น โดยให้เด็กได้มีโอกาสได้เรียนและเล่นไปด้วย เอาธรรมชาติที่มีอยู่รอบตัวมาเป็นกระบวนการเรียนการสอน

 

จนกระทั่งเด็กสามารถเข้าไปเรียนในชั้นเรียนได้ โดยเวลาเรียนจะแบ่งเวลาให้กับเด็กเล็กได้เล่น เด็กโตขึ้นมาก็เริ่มสอนการอ่านและการเขียนมากขึ้น

 

 

แล้วก็มีเหตุการณ์หนึ่งที่เข้ามสู่ชีวิตอย่างมิคาดฝัน ทำให้ครูเรียมซาบซึ้งใจที่สุด คือ วันที่ 11 มีนาคม 2535 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินมาที่ รร.บ้านขอบด้ง ต.ม่อนปิ่น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ทอดพระเนตรเด็กชาวเขาเขียนภาษาไทย ปั้นดินน้ำมัน และทอดพระเนตรแปลงดอกคาร์เนชั่นที่เด็กๆช่วยกันปลูก ซึ่งครูเรียม ได้มีโอกาสถวายรายงานพระองค์ท่าน พระดำรัส ที่พระองค์รับสั่งฝากครูเรียม ว่า...

 

ฉันฝากเด็กชาวเขาเหล่านี้ด้วย ตัวฉันอยู่ไกล ครูดูแลด้วยนะ

...พระสุรเสียงของพระองค์ที่รับสั่ง ทุกคนที่เฝ้ารับเสด็จอยู่รอบๆ ได้ยินกันทั่ว แต่ครูเรียมเหมือนกับเป็นเสียงที่ลอยมากับสายลมที่มากไปด้วยความพระเมตตา ไม่ทรงมองผ่านเลยกับชีวิตครูตัวเล็กคนหนึ่งที่ทำงานสอนอยู่ไกลโพ้นดงดอย เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่จริง ๆ  ไม่ใช่ภาระแต่เป็นหน้าที่ ที่ครูเรียมยินดีทำ... ครูเรียม บอกด้วยน้ำตาคลอเบ้าและยกมือพนมไหว้เหนือหัวอย่างเทิดทูล ฯ

เมื่อถามถึงรางวัลชีวิตของ 'ครูดอย' นั้นคืออะไร ครูเรียมบอกกับเราว่า คือ ที่สุดแห่งมงคลชีวิตแล้ว คือ พระกระแสรับสั่งของพระองค์คงไม่เพียงแค่ครูเรียมคนเดียวเท่านั้น ครูทั้งประเทศหากได้ยินได้ฟังแล้วก็คงจะรับรู้ได้เช่นกัน

 

 

 

นอกจากนี้ยังมีรางวัลที่ได้มากกว่าเกียรติบัตร คือ การที่ได้เห็นเด็กได้รับความรู้ มีพัฒนาการที่ดีขึ้น มีความสุขในการเรียนรู้ และที่สำคัญได้นำเอาความรู้ที่ได้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เด็กมีความรู้ด้านคณิตศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เด็กก็สามารถไปทำบัญชีครัวเรือนที่บ้านได้ รวมถึงการค้าขาย ตราชั่งผักบางครั้งชาวบ้านมักจะถูกโกงโดยที่ไม่รู้ตัว เด็กก็สามารถไปอธิบายให้พ่อแม่เข้าใจได้

 

และด้านสาธารณสุขภายในหมู่บ้าน ชาวบ้านที่นี่จะไม่ขังหมูเพราะเชื่อว่าการขังหมูไว้จะทำให้หมูไม่แพร่พันธ์ ทำให้หมูถ่ายอุจจาระไม่เป็นที่เป็นทางเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ครูก็ได้มีโอกาสเข้าไปเล่าถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยจะพยายามไม่ให้ไปขัดกับความเชื่อของคนในหมู่บ้าน จากนั้นชาวบ้านได้มีการทำคอกเป็นสัดส่วนที่ดีขึ้น

 

 

การเป็นครูดอย ของ ครูเรียม คือ การทำหน้าที่จากความรู้สึกของจิตใจ เพราะเราอยู่บนดอย สภาพพื้นที่บนดอยนั้นไม่มีความพร้อม เพราะฉะนั้นคนที่จะเป็นครูดอย ต้องพร้อมทำหน้าที่ได้ตลอดเวลา เป็นครู เป็นหมอ เป็นทุกอย่างที่สามารถทำประโยชน์ให้กับพื้นที่นั้นได้

 

เราอยากให้โอกาสเด็ก และอยากให้ทุกคนได้รู้ว่า เด็กสามารถได้รับความรู้ ได้รับการศึกษา แม้ว่าเค้าจะเป็นเด็กบนดอย เค้าก็สามารถมีความรู้ มีทุกสิ่งทุกอย่างเท่าเทียมกันกับเด็กอื่นๆ ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย ครูเรียม บอกเล่าถึงความรู้สึก

 

 

ฉันฝากเด็กชาวเขาเหล่านี้ด้วย ตัวฉันอยู่ไกล ครูดูแลด้วยนะ ตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ครูเรียมตัดสินใจว่า จะขอเป็นครูที่ขอบด้งจนไม่สามารถที่จะทำหน้าที่ได้ ถึงแม้จะเกษียณแล้วก็ตามจะขอทำหน้าที่ต่อไปเพื่อเป็นประโยชน์ต่อที่นั่น

 

 

จากความเสียสละและทุ่มเทสะท้อนให้เห็นว่า ครู นอกจากจะเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นให้เกิดกับศิษย์แล้ว ยังช่วยค้ำชูสังคมไทยให้เกิดความเข้มแข็ง เพราะครูคือผู้สร้างคนเติบโตขึ้นไปพัฒนาประเทศ 

หมายเหตุ : Edunewssiam ขอขอบคุณ team content www.thaihealth.or.th สสส. ที่นำเรื่องราวของครูเรียม คุณครูตัวเล็ก ๆ กับพลังความดีที่ยิ่งใหญ่ มาบอกเล่าเมื่อวันครู เมื่อปี 2560 และ เสวนากับบรรณาธิการ Edunewssiam  ขออนุญาตเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ เนื่องในโอกาสวันครูแห่งชาติ ปี 2565 เพื่อมอบให้คุณครูทุกคนได้เป็นกำลังใจ สามารถเป็นหนึ่งในพลังความดีสานต่อเป็นพลังแผ่นดินสืบไป

และขอบคุณภาพ : เว็บไซต์ความสุขประเทศไทย และ เฟสบุ้ค โรงเรียนบ้านขอบด้ง 

 

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ : บรรณาธิการ

EDUNEWSsiam.com

editor@edunewssiam.com

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)