บทเรียนโควิด-19 ระบาดข้ามปี 64-65 "ศบค.ศธ." ควรยุบหรือให้ไปต่อ?

บทเรียนโควิด-19 ระบาดข้ามปี 64-65

"ศบค.ศธ." ควรยุบหรือให้ไปต่อ ?

คำตอบอยู่ที่ "รมว.ตรีนุช เทียนทอง"  

 

คิดนอกกรอบ 23 กุมภาพันธ์ 2565

ตุลย์ ณ ราชดำเนิน : tulacom@gmail.com 

                                      

 

 

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)  ประกาศจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.ศธ.) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 เพื่อเป็นศูนย์ดำเนินการร่วมระหว่างหน่วยงานภายใน ศธ. โดยมีสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) เป็นแกนหลักในการดูแลครูและบุคลากรในสังกัด ศธ. อำนวยการช่วยเหลือหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับ ครอบคลุมถึงครอบครัวและบุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกทั้งประสานการดําเนินงานระหว่างหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวงศึกษาธิการ

ตามมาด้วย หากต้องการความช่วยเหลือให้แจ้งมาที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ปกครองและประชาชนในการเปิดเรียนของสถานศึกษา

ศบค.ศธ.ยังตั้งขึ้นมาเพื่อประเมินสถานการณ์ประจําวันและเฝ้าระวัง เพื่อนําข้อมูลมาวิเคราะห์ใช้ในการวางแผนการดําเนินงานควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด พร้อมให้ความช่วยเหลือหน่วยงาน ข้าราชการ บุคลากรและนักเรียน นักศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ

ผ่านมา 8 เดือนอยากเห็นว่า ผลงานของ ศบค.ศธ.มีสิ่งใดที่เป็นความน่าประทับใจสังคมบ้าง เปิดดูได้จากเว็บไซต์ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงศึกษาธิการ (ศบค.ศธ.) http://www.covid.moe.go.th/ ภาพรวมเห็นกราฟแท่ง กราฟเส้น รายงานตัวเลขยอดครู บุคลากร และนักเรียนติดเชื้อและฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แยกตามประเภท สังกัด มีทั้งตัวเลขที่เป็นปัจจุบันบ้าง ไม่เป็นปัจจุบันบ้าง หรือเวลาออกงานแถลงข่าวส่วนใหญ่คณะของ ศบค.ศธ.ก็จะกล่าวถึงแต่ตัวเลขเหล่านี้เป็นหลักอย่างสม่ำเสมอ

ยังมองไม่เห็นว่า ศบค.ศธ.จะนำเสนอในลักษณะเป็นองค์ความรู้ในเชิงรุก หรือเปลี่ยนวิธีการให้กลุ่มเป้าหมายคนในสังกัดได้ตระหนักถึงการรู้ทันการคุกคามของโรคระบาดโควิด-19 ในเชิงให้ความรู้ เป็นคู่มือที่บุคลากรตระหนักถึงวิธีป้องกันเพื่อความอยู่รอด ตลอดทั้งสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในการรักษาพยาบาล ควบคู่ไปกับช่องทางสื่อสารของ ศธ.ที่เข้าไปให้บริการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

   

หาก ศบค.ศธ.ยังไม่พัฒนา ก็สมควรเปลี่ยนคนมาทำหน้าที่หรือยุบทิ้งเสียก็ได้ หรือหากว่างจัดจะลองให้ “เสมาโพล” ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นจากชาวเสมาทั่วประเทศดูก็ได้ อยากให้ ศบค.ศธ.อยู่ หรือควรจะทำอะไรที่มีสาระมากไปกว่าโชว์ตัวเลขคนติดเชื้อไปวัน ๆ บ้างก็ได้

ขณะที่องค์กรบริหารหลัก 4 แท่งใน ศธ. โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) หรืออย่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ต่างขยับยุทธการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ทั้งวางแนวในเชิงตั้งรับอย่างเข้มข้น และเปิดยุทธการเชิงรุกเพื่อรับมือกับเชื้อระบาดรอบใหม่ 

หากจะมีการพ่ายแพ้กับเชื้อระบาดไปบ้างในบางจุด ก็ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา

แต่ถ้าทาง ศบค.ศธ.จะคิดอ่านเข้าไปเป็นหน่วยช่วยเสริมเติมเต็มในเชิงป้องกันไว้ดีกว่าแก้ น่าจะดีกว่ามานั่งประชาสัมพันธ์แจ้งตัวเลขการติดเชื้อระบาดไปวัน ๆ หรือไม่

ถึง ณ วันนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ใหญ่ รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประกาศยกระดับการแจ้งเตือนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นระดับ 4 ยอดป่วยยังพุ่งทะลุหมื่น และจากข้อมูลวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา มีโทรศัพท์เข้าไปขอรับบริการเกี่ยวกับผู้ป่วยโควิด-19 สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 49,500 สาย ในรอบ 24 ชั่วโมง

แม้แต่ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการฉุกเฉินด้านความมั่นคง ที่มี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ลงนามหนังสือด่วนที่สุด ส่งถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ผอ.โรงพยาบาลศูนย์ /โรงพยาบาลทั่วไป หลังจากตรวจพบการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ให้เตรียมการดูแลรักษาผู้ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา-19 อย่างเต็มกำลัง

อีกทั้งประชาสัมพันธ์หมายเลขโทรศัพท์ของจังหวัด และ รพ.ทุกแห่ง เพื่อให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจที่จะเข้าถึงระบบบริการเมื่อติดเชื้อ เร่งรัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นในประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะในผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด ตลอดจนลดความรุนแรงจากการติดโควิด

นั่นแสดงถึงการเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์ประจําวัน โดยใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผนการดําเนินงานควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด พร้อมทั้งเป็นข้อมูลให้หน่วยงานต่าง ๆ ให้เตรียมความพร้อมด้านทรัพยากร เตียง บุคลากรทางการแพทย์ และระบบการดูแลรักษาแบบ Home Isolation (HI) หรือ Community Isolation (CI)  

รวมไปถึงการสื่อสารให้ทุกคนทุกฝ่ายได้เข้าถึงเพื่อป้องกันตนเองและครอบครัวได้ ด้วยมาตรการ Universal Prevention และ VUCA และสร้างการรับรู้การดูแลรักษาผู้ป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 ตลอดสิทธิต่าง ๆ  อย่างทันท่วงที

อย่างเช่นการคุ้มครองตามสิทธิยูเซ็ปพลัส ( UCEP Plus ) ซึ่งเป็นสิทธิของผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าถึงการรักษาทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดตามนโยบายรัฐ ไม่ต้องสำรองจ่าย โดยจะต้องเป็นผู้ป่วยที่มีอาการ 6 ประเภทที่เข้าข่าย เจ็บป่วยฉุกเฉิน วิกฤต มีอาการอย่างไรบ้าง เป็นต้น

จากข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ระลอกใหม่ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้กระทรวงสำคัญๆ อย่างกระทรวงมหาดไทย รีบกระโดดเข้ามาขับเคลื่อนแจ้งประสานกับผู้ว่าราชการทุกจังหวัด สร้างการรับรู้สถานการณ์การแพร่ระบาดของผู้ติดเชื้อโควิด-19 และมาตรการควบคุมโรค สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการป้องกันการแพร่ระบาดและลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้ได้โดยเร็วที่สุด ตลอดจนอาศัยกลไกในพื้นที่รณรงค์ให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด เป็นต้น

ข้อมูลดังกล่าวเหล่านี้ และอีกหลายเรื่องราวที่ทาง ศบค.ศธ.ควรต้องมีการประกาศทบทวนให้ข้าราชการ บุคลากร และนักเรียน นักศึกษา คนในสังกัด ศธ.ทั่วประเทศ ได้ตระหนักรับรู้

แม้กระทั่งเรื่องคำศัพท์ใหม่ ๆ เกี่ยวกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่นักเรียนและผู้ปกครองไม่คุ้นชินบางคำ ควบคู่ไปกับการทำความเข้าใจในการรักษาตามสิทธิไปพร้อมๆ กัน อย่างน้อยคือการรู้ความขยายต่อ หากมีการสื่อสารทำความเข้าใจอย่างครบถ้วน ความกังวลเรื่องการติดเชื้อและเข้าสู่ระบบการรักษา ก็น่าจะคลี่คลายไปได้

รวมทั้งการแนะนำตอกย้ำการให้บุคลากรรู้จักใช้ฟังก์ชันการประเมินความเสี่ยงด้วยตนเองสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 (Self-assessment) บนระบบ "หมอพร้อม Chatbot" เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือช่วยคัดกรอง ผู้ที่มีผลการตรวจเป็นบวก ให้ได้รับคำแนะนำในการเข้ารับการรักษาพยาบาลเบื้องต้นได้

การแนะนำให้รู้จักวิธีการเข้ารับการรักษาตัวในระบบ Home Isolation ซึ่งมี 3 ช่องทางหลัก การโทรเข้าสายด่วน 1330 กด 14 เพื่อขอรับการประสานงานเพื่อจัดหาหน่วยบริการมาดูแลแบบ Home Isolation ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

หรือการส่งข้อความ inbox เข้าไปที่เฟซบุ๊คสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ลงทะเบียนด้วยตัวเอง ด้วยการสแกน QR code ที่อยู่บนเว็บไซต์ สปสช. ก็สามารถตรวจสอบได้เลยว่าจะมีหน่วยบริการไหนมารับดูแล เท่ากับสร้างการรับรู้การดูแลรักษาผู้ป่วยจากการติดโควิด สามารถให้ดูแลตนเองและครอบครัวได้

เฉพาะอย่างยิ่ง ถ้า ศบค.ศธ.ได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดรายวันในพื้นที่จังหวัดต่างๆ และมีความตระหนักเห็นถึงผลร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นตามมาหากเกิดคลัสเตอร์โควิด-19 ในหมู่นักเรียน นักศึกษา ครูและบุคลากรในสังกัดและกำกับ ซึ่งส่งผลกระทบถึงคนในครอบครัวและชุมชนด้วย ก็คงจะไม่ปรากฏข่าวคราวความวิตกห่วงใยในหลากหลายกรณีในช่วงเวลานี้

เช่น ในกรณีองค์กรเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) ที่กลัวจะเกิดคลัสตอร์โควิด-19 ในงานแข่งขันทักษะวิชาชีพ และงานประชุมวิชาการองค์การนักวิชาชีพ ในอนาคตแห่งประเทศไทย (อวท.) ระดับชาติ ครั้งที่ 30 ประจำปีการศึกษา 2564 ณ จังหวัดน่าน จัดขึ้นวันที่ 21-24 กุมภาพันธ์ 2565

ซึ่งมีนักศึกษา ครูอาจารย์ และผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด สอศ.จากจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศเดินทางมาเข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ 

หรือกรณีเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ที่นายประทุม เรืองฤทธิ์ ประธานสมาพันธ์ครูภาคใต้ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เรียกร้องไปยังผู้บริหารระดับสูงใน สพฐ. และกระทรวงศึกษาธิการ ได้โปรดพิจารณาผ่อนปรนการสอบวัดทักษะการอ่านนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ปีการศึกษา 2564 ของโรงเรียนระดับประถมศึกษาทั่วประเทศที่อยู่ในพื้นที่วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19

เนื่องจากทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ได้ส่งหนังสือเร่งรัดให้โรงเรียนต่างๆ ดำเนินการจัดสอบให้แล้วเสร็จและรายงานผลไปยัง สพท.ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ ในขณะที่โรงเรียนในหลายพื้นที่กำลังประสบกับสถานการณ์มีทั้งจำนวนเด็กนักเรียน ครูและบุคลากรติดเชื้อโควิด-19 จนทำให้ผู้บริหารโรงเรียนและครูในโรงเรียนประถมศึกษาเหล่านี้กำลังเกิดความเครียดหาทางออกยังไม่ได้ว่า ควรดำเนินการอย่างไร เพราะเกรงจะไม่ปลอดภัยกับครูและนักเรียน

เรื่องทั้งหมดอย่างนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงศึกษาธิการ (ศบค.ศธ.) ควรต้องทำหน้าที่ประสาน ดูแล สื่อสารประชาสัมพันธ์ ศธ.ให้เป็นมืออาชีพ ฝากความหวังที่วางใจได้  ไม่เพียงแค่ทุ่มเงินไปซื้อสื่อเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสร้างภูมิป้องกันให้แก่ครูและบุคลากรในสังกัด ศธผู้ปกครองและประชาชนเท่านั้น หากยังได้ชื่อว่าแบ่งเบาภาระที่หนักอึ้งของบุคลากรทางการแพทย์และรัฐบาลยามนี้อีกด้วย และไม่ควรมีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ด้วยซ้ำ

ที่สำคัญ เวลานี้เอาแค่เรื่องเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 หากติดตามข่าวจะพบว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กับปลัด สธ.ให้ข่าวทุกวันว่า มีการตรวจสอบจำนวนเตียงที่มีอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ อุ่นใจได้ว่ายังมีความพร้อม  

แต่เมื่อหันมาทาง ศบค.ศธ.ที่คุยว่า กำลังเฝ้าระวังและมีการประเมินสถานการณ์ประจําวัน เพื่อนําข้อมูลมาวิเคราะห์ใช้ในการวางแผนการดําเนินงานควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด พร้อมให้ความช่วยเหลือ ข้าราชการ บุคลากร และนักเรียน นักศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นไปอย่างที่คุยโม้ไว้แต่แรกหรือไม่? จนถึงเวลานี้ ใช่หรือไม่?

เอาแค่ถามว่า ศบค.ศธ.ตรวจสอบกับเลขาธิการ กพฐ. หรือ สอศ., กศน., สช., ศึกษาธิการภาคศึกษาธิการจังหวัด, สำนักผู้ตรวจราชการ ศธ.ที่เป็นหูเป็นตาให้กับ ศธ. หรือทุกหน่วยงานในสังกัด ศธ.ถึงจำนวนเตียง หรือศูนย์พักคอยในสถานศึกษา ตลอดหน่วยงานในสังกัด ศธ.ที่เคยจัดตั้งขึ้นมา ยังคงมีอยู่เหมือนเดิมหรือไม่? ความพร้อมยังเต็มร้อยหรือไม่? สภาพมีความยับเยินหรือสมบูรณ์มากน้อยประการใด ซึ่งคงต้องมีวงเงินงบประมาณลงไปทำนั่น ทำนี่ โน่น อีกเท่าใด รมว.ศธ.ควรรับรู้ไหม?

หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินของหน่วยงานการศึกษาทุกจังหวัด บุคลากรที่มีความรู้ ครูที่ทำหน้าที่พยาบาล ระบบการดูแลรักษา อุปกรณ์ งบประมาณ แบบฟอร์มรายงานผ่านระบบออนไลน์ ยังเหมือนเดิมหรือแย่ลงกว่าเดิม ที่ไหน เขตพื้นที่ใด จังหวัดใด สถานศึกษาใดขาดเหลืออะไรบ้าง? 

นี่ยังไม่ได้ตั้งคำถามถึงระบบความคิดของ ศบค.ศธ.ในการสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของครูที่นอกเหนือจากรูปแบบ Onsite เพื่อรองรับถ้าสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้เด็กไม่อาจไปเรียนที่โรงเรียนได้ในระยะยาวเช่นปีที่ผ่านมา

หรือจะต้องฟังเสียงบ่นจากเด็กๆ เบื่อกับการเรียนออนไลน์แบบเดิม หรือปล่อยประสบปัญหาขาดอุปกรณ์ ขาดอินเทอร์เน็ตเช่นเดิม อีกหรือไม่?

ศบค.ศธ.มีระบบความคิดที่จะจุดประกายความร่วมไม้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน ศธ. นำข้อมูลสภาพปัญหาที่ได้รับการสะท้อน ผลวิเคราะห์ วิจัย ตลอดจนคำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์ นำมาประมวลและประยุกต์เพื่อการแก้ปัญหาให้สอดรับกับบริบทปัจจุบันหรือไม่?

ยกตัวอย่างคำแนะนำของ ดร.นิวัตร นาคะเวช นายกสภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย และอดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ "ต้องยอมรับว่าการเรียนการสอนในรูปแบบ Online และ On-hand อาจไม่ได้ผล เพราะมีข้อจำกัดมากมาย เช่น On-hand เด็กไม่ได้เรียนแบบเห็นหน้าตากับครู หรือ Online มีข้อจำกัดเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอุปกรณ์ไม่พร้อม อินเทอร์เน็ตไม่เสถียร มองเห็นครูในจอมือถือและคอมพิวเตอร์เล็กนิดเดียว ทำให้อาจเบื่อหน่าย

แต่ก็มีทางออกคือ ให้ครูนำหลักการจัดการศึกษาแบบ On-demand เข้ามาเสริม โดยเฉพาะในการเรียนผ่าน Online มอบหมายให้เด็กได้ไปศึกษาค้นคว้าความรู้ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ ก็จะช่วยให้เด็กมีความอยากรู้อยากเรียนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายคุณลักษณะของการจัดการศึกษาที่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนอยู่แล้ว เป็นการจัดการศึกษาแบบให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางโดยแท้จริง"

ดร.นิวัตรยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า ในการเรียนแบบ Online ครูสามารถสอนให้เด็กอยากรู้อยากเรียนได้ด้วยการดูจุดประสงค์การเรียนรู้ในวิชานั้นๆ แล้ววางแผนการจัดการเรียนรู้ ด้วยการบอกจุดประสงค์การเรียนรู้อาจจะ 2 ข้อกับเด็ก ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที แล้วปล่อยให้เด็กไปค้นคว้าหาความรู้ตามจุดประสงค์การเรียนรู้ดังกล่าว ตามสื่อหรือแอปพลิเคชันต่างๆ แล้วชั่วโมงถัดไปให้เด็กแต่คนนำเสนอความรู้ที่ตนเองไปค้นคว้ามา 

เช่น ให้เด็กไปหาความรู้เรื่องประเทศมาเลเซีย เด็กแต่ละคนก็อาจหาความรู้มาแต่ละด้านไม่เหมือนกันมานำเสนอ บางคนอาจเสนอเรื่องปาล์มน้ำมัน บางคนเสนอเรื่องศิลปวัฒนธรรม บางคนเสนอเรื่องเศรษฐกิจ ก็จะทำให้เด็กทุกคนได้รับความรู้เกี่ยวกับประเทศมาเลเซียครอบคลุมขึ้น ซึ่งอาจจะได้ความรู้ดีกว่าที่ครูบอกในชั้นเรียนด้วยซ้ำ จากนั้นครูเพียงบอกสรุปก่อนจบชั่วโมงเรียน

"แค่นี้ผมก็เชื่อว่า จะทำให้การเรียนผ่าน Online ดึงดูดและมีความหมายต่อนักเรียนเพิ่มมากขึ้น" อดีตรองปลัด ศธ. กล่าว

ย้ำอีกทีว่า ณ เวลานี้ ศบค.ศธ.ยังพอจะคุยได้เต็มปากเต็มคำว่า พร้อมหรือไม่?? หากการระบาดมาถึงขั้นวิกฤต มีอะไรที่จะต้องเรียนแจ้งให้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต้องลำบากใจที่จะตอบนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี  หรือจะรอโอกาสอีกไม่กี่วันสถานศึกษาก็จะปิดภาคเรียนใหญ่อีกรอบกันแล้ว  

ช่วงเวลาดังกล่าวที่เหลือ ยังมีงานอีกมากมายที่กระทรวงศึกษาธิการต้องทำให้สังคมกระจ่าง ทั้งในเรื่องการประเมินนักเรียนรายคน เลื่อนชั้นประจำปีของนักเรียน การรับสมัครเข้าเรียนการจบชั้น การนำปัญหาและอุปสรรคในการเรียนการสอนในช่วงที่ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาถก

ตลอดจนถึงการทดลองใช้หลักสูตรใหม่ฐานสมรรถนะที่ยังเป็นข้อกังขา โครงการพาน้องกลับคืนสู่ห้องเรียนตามนโยบาย การยุบรวบโรงเรียนขนาดเล็กที่กำลังถูกผู้ใหญ่บ้านและกรรมการสถานศึกษาในชนบทรวมตัวต่อต้าน และเรื่องสำคัญอื่น ๆ รออยู่

เอาไงดีท่านรัฐมนตรีว่าการ ศธ. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง? ศบค.ศธ.ควรไปต่อ หรือถ้าจะยุบทิ้ง คน ศธ.ก็คงไม่รู้สึกเสียดาย???

 

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)