โคเซน กับ การพัฒนา กำลังพลคนอาชีวศึกษาไทย

โคเซน กับ การพัฒนา

กำลังพลคนอาชีวศึกษาไทย

 

การนำคณะผู้บริหารจากประเทศไทย เข้าพบผู้บริหารสถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ National Institute of Technology: NIT (KOSEN) ประเทศญี่ปุ่น โดย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา  เพื่อขอบคุณในความร่วมมือในการจัดการอาชีวศึกษาคุณภาพสูง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รวมทั้งสานต่อความสัมพันธ์อันดีในการจัดการเรียนการสอนร่วมกันกับสถานศึกษาอาชีวศึกษาต่อไป

 

การไปครั้งนี้ไม่มากคน เนื่องจากมีคีย์แมนอย่าง นายนิติ นาชิต ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ  นายพีรพงษ์ พันธ์โสดา ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) นายสายันห์ ประโกสันตัง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสุรนารี ติดตามไปด้วย ก็น่าจะลงตัวพอดีกับการสานสัมพันธ์ในความร่วมมือจัดการด้านอาชีวศึกษาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตสืบไปอีกยาวนานกับสถาบัน KOSEN

 

 

หลายคนอาจสงสัยว่า National Institute of Technology: NIT (KOSEN) หรือมักเรียกกันสั้น ๆว่า โคเซน มีความสำคัญที่เข้ามาเกี่ยวข้องต่อการอาชีวะไทย อย่างไร

 

โคเซ็นในประเทศญี่ปุ่น ถูกก่อตั้งขึ้นมาในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ทศวรรษ 1950 จากการที่ในช่วงเวลานั้นมีความต้องการวิศวกรในการพัฒนาประเทศเป็นจำนวนมาก ในปี ค.ศ. 1962 รัฐบาลจึงได้ก่อตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งชาติ (โคเซ็น) ขึ้นมา เพื่อเป็นการตอบสนองต่อความต้องการเหล่านี้

 

ความจริงแล้ว สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและ National Institutes of Technology NIT ประเทศญี่ปุ่น ได้ดำเนินการทำความร่วมมือทางวิชาการร่วมกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 โดยให้การสนับสนุนทางวิชาการและร่วมจัดตั้งหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ต่อเนื่อง 5ปี) ภายใต้โครงการอาชีวะพันธุ์ใหม่ Premium Program ในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการญี่ปุ่นในประเทศไทย

 

โดยใช้มาตรฐานของโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น มาเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน ใน 2 สาขาวิชา คือ

 

 

สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) และสาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ ณ วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีการจัดการอาชีวศึกษาตามมาตรฐานตามที่ญี่ปุ่นกำหนด ทั้งทางด้านภาษาญี่ปุ่น สมรรถนะในวิชาชีพนักวิศวกรรมปฏิบัติการ รวมทั้งวัฒนธรรมในการทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่น ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการญี่ปุ่นในประเทศไทย

 

จนปัจจุบันนี้ มีผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการอาชีวะพรีเมียมแล้ว จำนวน 1 รุ่น จำนวน 32 คน

 

เมื่อกล่าวถึง โคเซ็น (ญี่ปุ่น: 高専、こうせん、KOSEN) หรือแบบเต็มเรียกว่า โคโตเซ็นมองกักโค (ญี่ปุ่น: 高等専門学校(こうとうせんもんがっこう)kōtō-senmon-gakkōอังกฤษ: National Institute of Technology, แปลไทย: สถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติ) โคเซ็น เป็นสถาบันทางการศึกษาขั้นสูงรูปแบบหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ที่มุ่งฝึกอบรมวิศวกรเชิงปฏิบัติและวิศวกรที่มีความคิดในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ มีสถาบันระดับชาติ ท้องถิ่นและภาคเอกชนทั้งสิ้น 57 แห่งในญี่ปุ่น มีนักศึกษาทั้งหมด 60,000 คน[1] รวมประมาณ 3,000 คนในหลักสูตรขั้นสูงแล้ว

 

ในความเป็นจริงแล้ว โคเซ็นไม่ได้มีเพียงเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ยังมีในประเทศมองโกเลีย ไทย และเวียดนาม โดยมีการปรับเปลี่ยนภายใต้วัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ

 

ดังนั้น ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา โคเซ็นเป็นส่วนสำคัญในการสร้างวิศวกรที่มีความสามารถเป็นผู้นำพาประเทศไปสู่การพัฒนาเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรม และการเป็นประเทศญี่ปุ่นที่มีแนวคิดเรื่อง Monozukuri ซึ่งระบบโคเซ็นที่มีความเป็นเอกลักษณ์นี้ ไม่เพียงแต่ได้รับความชื่นชมอย่างสูงจากในประเทศ แต่ยังได้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติด้วย

 

การที่ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นำคณะผู้บริหารจากประเทศไทย เข้าพบผู้บริหารสถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ National Institute of Technology: NIT (KOSEN) ประเทศญี่ปุ่น จะช่วยสร้างความเชื่อมโยง ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานหรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และจะมีส่วนในการยกระดับวิทยาลัยเทคนิคของประเทศ  อันจะนำไปสู่การสร้างบุคลากรด้านอาชีวศึกษาที่จะนำพาอุตสาหกรรมไทยไปสู่ระดับที่สูงขึ้น

 

เนื่องจาก ระบบโคเซ็นของญี่ปุ่น เป็นระบบที่มีความเป็นเอกลักษณ์และได้รับการพัฒนาขึ้น เพื่อที่จะสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในทางเทคนิค ไม่เฉพาะแค่ด้านปฏิบัติ แต่ยังรวมถึงการมีความคิดสร้างสรรค์ โดยเป็นระบบการศึกษา 5 ปีที่รับประกันคุณภาพการศึกษา

 

ซึ่งผู้สำเร็จการศึกษาจากโคเซ็นนั้นไม่เพียงแต่เป็นทรัพยากรมนุษย์อันมีค่าต่อประเทศชาติ แต่ยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาในอีกหลาย ๆ ประเทศด้วย และประเทศไทยก็มีบุคลากรชาวญี่ปุ่นที่สำเร็จการศึกษาจากโคเซ็นเข้ามาทำงานอยู่ในทุก ๆ ประเภทอุตสาหกรรมของไทยด้วย

 

 

สำหรับ สำหรับคณะผู้บริหาร National Institutes of Technology NIT (KOSEN) ประเทศญี่ปุ่น ที่ต้อนรับขับสู้คณะผู้บริหารอาชีวะไทย ครั้งนี้ ประกอบด้วย Dr. TANIGUCHI Isao  President of NIT ,Dr. INOUE Mitsuteru Executive director of NIT , Mr. HIRATA Junichi Director for International Affairs,Dr. HORIGUCHI Katsumi Professor of NIT, Nagano college Mr. NAKAMURA Shin Facilitator of International Affairs and Planning Division และ Mr. NAKAMURA Kenta Senior Staff of International Affairs and Planning Division

 

สรุปผลในการหารือดังกล่าว นับเป็นความสำเร็จที่สามารถมองอนาคตของอาชีวะไทยได้เป็นอย่างดีกับแผนการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังอาชีวศึกษาพันธุ์ใหม่ เพื่อเป็น “นักวิศวกรรมปฏิบัติการ”  ที่มีศักยภาพในการพัฒนาและเพิ่มผลิตภาพในงานอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมขั้นสูง

 

เมื่อ Dr. TANIGUCHI Isao President of National Institutes of Technology NIT (KOSEN) ประเทศญี่ปุ่น ยินดีในความร่วมมือกันในจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษา ระหว่าง KOSEN College ที่มีทั้งสิ้น 51 แห่งในประเทศญี่ปุ่น กับวิทยาลัยสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ตามหลักสูตรการพัฒนานักวิศวกรรมปฏิบัติการ หรือ Practical Engineer ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้วางแผนเอาไว้

 

เรียกได้ว่า การเดินทางของคณะผู้บริหารอาชีวะไทย ครั้งนี้ ได้ผลคุ้มค่ากว่าที่คิด ในการต่อยอดพัฒนาเพื่อสร้างบุคลากรซึ่งเป็นกำลังพลคนอาชีวะที่มีความชำนาญอย่างสูงในสายอาชีพนั้น ๆ อย่างเป็นรูปธรรม

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam  

ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage